'เวลา' สวัสดิการที่ถูกมองข้าม
หากจะออกแบบระบบสวัสดิการ ที่สามารถดึงดูดรักษาและจูงใจให้คนเก่ง คนดี ทำงานและทุ่มเทกับองค์กรได้นานๆ ควรจะต้องมีอะไรบ้าง? จากตัวอย่างในต่างประเทศพบว่า แนวโน้มใหม่ที่สำคัญสำหรับสวัสดิการ แต่มักถูกมองข้ามไปนั้นคือเรื่องของเวลา
[บทความนี้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เขียนโดย รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คอลัมน์มองมุมใหม่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]
เคยมีคนถามว่าถ้าจะออกแบบระบบสวัสดิการที่สามารถดึงดูดรักษาและจูงใจให้คนเก่งคนดีทำงานและทุ่มเทกับองค์กรได้นานๆ นั้นควรจะต้องมีอะไรบ้าง?
ก็ลองไปค้นหาจากตัวอย่างในต่างประเทศมาก็พบว่า แนวโน้มใหม่ที่สำคัญสำหรับสวัสดิการ แต่มักจะถูกมองข้ามไปนั้นคือ เวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ทีให้ความสำคัญต่อความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน
จริงๆ แล้วเรื่องของ Flextime หรือการที่พนักงานสามารถเลือกเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดงานของตนเองไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่พูดถึงและมีการนำมาใช้กันนานมากแล้ว แต่ในปัจจุบันกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งทาง LinkedIn ซึ่งได้จัดทำบทความเรื่อง 20 big Ideas that will change your world in 2020 ถึงกับนำเรื่องเวลาขึ้นเป็นเรื่องแรกใน 20 เรื่องที่เขามองว่าจะส่งผลกระทบต่อโลกในปีนี้
สำหรับคนในยุค Boomers หรือ Gen X อาจจะมองว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานเป็นเรื่องปกติและแสดงถึงความทุ่มเทที่มีต่อองค์กรและความก้าวหน้าของตนเอง แต่ขณะเดียวกันในช่วงหลังก็มีงานวิจัยมากมายที่พบว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานนั้นส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย ความสุข และปัญหาทางสังคมต่างๆ
ดังนั้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงเริ่มเรียกร้องในเรื่องของชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้มีเวลากับชีวิตของแต่ละคนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลาเพื่อดูแลบุตร หรือจำนวนวันพักร้อนที่มากขึ้น แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น การสามารถนั่งทำงานที่บ้านหรือตามร้านกาแฟ การเข้าสาย การออกก่อนเวลาสำหรับการออกกำลังกายหรือแม้กระทั่งเวลาสำหรับการไปปฏิบัติธรรม
PwC ได้เคยทำการศึกษาในกลุ่มคนรุ่นใหม่และพบว่าสำหรับคนรุ่นใหม่แล้วงาน หรือ Work เป็นสิ่งที่ทำแต่ไม่ใช่สถานที่ ดังนั้นสำหรับคนรุ่นใหม่งานสามารถทำที่ไหนและเวลาไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการเข้าที่ทำงาน (โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงทุกคนได้ตลอดเวลา) และนอกจากนี้สำหรับคนรุ่นใหม่แล้วเวลาไม่ใช่เพียงแค่การปรับเปลี่ยนเวลาในการทำงานหรือโอกาสได้หยุดอยู่ดูแลคนในครอบครัวเมื่อเจ็บป่วยเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบการทำงานของแต่ละคนให้เหมาะสมกับสไตล์ชีวิตของแต่ละคนด้วย
เมื่อปีที่แล้วทาง Microsoft ที่ญี่ปุ่นก็ได้ทดลองให้พนักงานทำงานเพียงแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยปิดสำนักงานในทุกวันศุกร์ให้พนักงานทุกคนได้หยุด โดยยังได้รับเงินเดือนเหมือนเดิม ซึ่งสมมติฐานเบื้องหลังการทดลองในครั้งนี้คือพนักงานจะรู้สึกดีกับบริษัทและทำให้ทำงานหนักขึ้นในวันทำงานที่เหลืออยู่ซึ่งผลจากการทดลองพบว่าเมื่อพิจารณาที่ยอดขายต่อพนักงานแล้วพบว่าในเดือนที่ได้มีการทดลอง (ส.ค.2019) ยอดขายต่อพนักงานเพิ่มขึ้นถึง40% เมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ
นอกจากนี้บรรดานักการเมืองต่างๆเช่นที่อังกฤษหรือที่ฟินแลนด์ก็พยายามชูนโยบายเรื่องการลดวันในการทำงานต่อสัปดาห์ลงให้เหลือ4 วัน (ถือเป็นนโยบายประชานิยมที่มีงานวิจัยมาสนับสนุนและเชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทั่วไปจะต้องชื่นชอมแน่)
ในมุมของผู้บริหารองค์กรนั้น ความท้าทายคือในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาสมัครงานหรือจะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรในอนาคตนั้น เรื่องเวลากลายเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ที่เขาใช้ในการพิจารณาเมื่อเลือกงานกันเลยทีเดียวมีงานวิจัยในต่างประเทศจากหลากหลายสำนักที่สอบถามทั้งคนรุ่นใหม่และบรรดาผู้บริหารของบริษัทที่รับสมัครพนักงานต่างพบประเด็นตรงกันว่าเรื่องของความยืดหยุ่นในเวลาการทำงานการทำงานที่มีความเป็นอิสระ (สามารถทำงานจากที่บ้านหรือร้านกาแฟ) และงานที่มีความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานกลายเป็นสิ่งที่คนสมัครงานรุ่นใหม่มองหาและที่น่ากังวลคือมีเพียงแค่ 30% ของผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่ระบุว่าได้เตรียมพร้อมรับแนวโน้มนี้
ดังนั้นเชื่อว่าในไม่ช้าเวลาองค์กรต่างๆ ประกาศถึงสวัสดิการสำหรับพนักงานเรื่องของเวลาและความยืดหยุ่นในเวลาการทำงานจะกลายเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการที่สำคัญสำหรับพนักงาน