ใครเป็นใครใน ‘ดาวอส 50 ปี’
การประชุมดาวอสปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 50 ภายใต้ธีม"ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อโลกที่ยั่งยืนเป็นปึกแผ่น”มาดูกันว่าผู้เข้าร่วมประชุมเป็นใครกันบ้าง
การประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “การประชุมดาวอส” เป็นเวทีให้ผู้นำภาคธุรกิจและนักการเมืองทั่วโลกได้ร่วมเสนอแนวคิด ปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 50 ระหว่างวันที่ 21-24 ม.ค.ภายใต้ธีม “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อโลกที่ยั่งยืนเป็นปึกแผ่น” แน่นอนว่าผู้ที่มาร่วมงานล้วนเป็นคนดัง เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรวบรวมบุคคลน่าสนใจในเวทีดาวอส เริ่มต้นจากตัวแทนฝ่ายหญิง
นายกรัฐมนตรีซานนา มาริน ของฟินแลนด์
ในวัย 34 ปี ซานนา มาริน เคยเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยสุดของโลกและเป็นผู้นำหญิงคนที่ 3 ของฟินแลนด์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลผสม 4 พรรคที่ผู้นำเป็นหญิงทั้งหมด
แม้ใครๆ จะจับจ้องถึงความสวยและอายุน้อยของเธอ แต่ตอนรับตำแหน่งนายกฯ ในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มารินกล่าวว่า เธอไม่เคยคิดเรื่องอายุหรือเพศ
“ดิฉันคิดถึงแต่เหตุผลที่เข้ามาเล่นการเมือง และสิ่งที่เราชนะใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
เออร์ซูลาฟอน เดอร์ ลาเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
อดีตรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือน ธ.ค.เจอปัญหาหนักหน่วงหลายประการให้ต้องรับมือ เช่น ต้องรวบรวมแรงสนับสนุนมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ของเธอ ที่เรียกว่า “ข้อตกลงยุโรปสีเขียว” เปิดตัวเมื่อเดือน ธ.ค. เป้าหมายทำยุโรปทุกประเทศให้มีสภาพอากาศเป็นกลางภายในปี 2593
คริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี
ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) คนใหม่และเป็นประธานหญิงคนแรก ถือเป็นคนดังประจำดับเบิลยูอีเอฟอยู่แล้ว เธอมาเยือนเวทีนี้บ่อยตั้งแต่สมัยเป็นกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แต่รอบนี้ถ้อยแถลงของเธอจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องการได้เบาะแสเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ใหม่อีซีบี
ช่วงปลายปี 2562 ลาการ์ดเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ตอนเธอประกาศว่าต้องการให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นนโยบายสำคัญอันดับ 1 ของอีซีบี
เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวต้านโลกร้อน
นักเคลื่อนไหววัย 17 ปี ชาวสวีเดนถึงเวลาต้องกลับมาดาวอสอีกครั้งในปีนี้ สาวน้อยผู้ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ให้เป็น “บุคคลแห่งปี 2562” ประกาศชัดถึงนักการเมืองและผู้นำภาคธุรกิจ ให้เลิกลงทุนในพลังงานฟอสซิลเสียแต่บัดนี้
“เราต้องการให้ผู้เข้าร่วมการประชุมปีนี้ทุกคน ทุกบริษัท ธนาคารและสถาบันทุกแห่ง รวมถึงรัฐบาลทุกประเทศ ยุติการลงทุนสำรวจและสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลทันที ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลทันที และถอนการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดทันที เราไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายในปี 2593, 2573 หรือแม้แต่ปี 2564 เราต้องการให้ทำเดี๋ยวนี้ ตอนนี้เลย” เกรตาระบุชัดในบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน
คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ
จอร์เจียวา ชาวบัลแกเรีย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟในฤดูใบไม้ร่วงปี 2562 เธอจะนำเสนอการประเมินเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟบนเวทีดาวอส ร่วมกับจิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ
ทีปิกา ปาทุโกณ
นักแสดงบอลลีวู้ดที่โด่งดังระดับสากลและเป็นทูตด้านสุขภาพจิต เธอเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้รับรางวัลคริสตัลอวอร์ดของดับเบิลยูอีเอฟ นิตยสารไทม์ยกย่องให้ทีปิกาเป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก
เมื่อเร็วๆ นี้มีภาพทีปิกายืนอยู่ในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลอินเดีย สร้างความประหลาดใจให้หลายคน จนคนในวงการอินเดียพากันหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง
ขณะที่ดาวเด่นฝ่ายชาย เริ่มต้นจาก
เหริน เจิ้งเฟย
ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ทุกปีบนเวทีดาวอสต้องถกกันเรื่องเทคโนโลยี ปีนี้ก็เช่นกันโดยจะเน้นเรื่องเทคโนโลยี 5จีที่หัวเว่ยเป็นผู้นำโลก แต่ก็ทำให้พันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปต้องแตกแยกกัน
เมื่อทางการสหรัฐวิตกว่า หัวเว่ยมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนซึ่งบริษัทปฏิเสธ จากนั้นสหรัฐก็ห้ามยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้ไม่ให้ขายเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐ ด้านอียูยังรอคำตอบในนามกลุ่ม แต่รัฐบาลเยอรมนีประกาศแล้วว่า ไม่ต้องการปิดกั้นหัวเว่ยเสียทีเดียว
เหริน เจิ้งเฟย
ผู้ก่อตั้งบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ทุกปีบนเวทีดาวอสต้องถกกันเรื่องเทคโนโลยี ปีนี้ก็เช่นกันโดยจะเน้นเรื่องเทคโนโลยี 5จีที่หัวเว่ยเป็นผู้นำโลก แต่ก็ทำให้พันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐและสหภาพยุโรปต้องแตกแยกกัน
เมื่อทางการสหรัฐวิตกว่า หัวเว่ยมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนซึ่งบริษัทปฏิเสธ จากนั้นสหรัฐก็ห้ามยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้ไม่ให้ขายเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐ ด้านอียูยังรอคำตอบในนามกลุ่ม แต่รัฐบาลเยอรมนีประกาศแล้วว่า ไม่ต้องการปิดกั้นหัวเว่ยเสียทีเดียว
สตีเวน มนูชิน
รัฐมนตรีคลังสหรัฐรายนี้ เคยสร้างความฮือฮาด้วยการนำเวทีเสวนาที่ดาวอสเมื่อปี 2560 มาแล้ว เขากล่าวในการแถลงข่าวว่า ดอลลาร์อ่อนค่าเป็นผลดีกับสหรัฐ ความเห็นนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐ กระตุ้นให้เกิดการเทขายดอลลาร์
จอร์จ โซรอส
อภิมหาเศรษฐีนักลงทุน เป็นอีกคนที่ถือเป็นขาประจำของเวทีดาวอส ปีที่ผ่านมาเขาเคยแสดงความกังวลเรื่องนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
“นโยบายว่าด้วยจีนที่มีประสิทธิภาพต้องไม่ใช่แค่คำขวัญ จำเป็นต้องเชี่ยวชาญและมีรายละเอียดกว่านี้มาก และต้องปฏิบัติได้ โดยต้องรวมถึงการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐต่อโครงการสายแถบและเส้นทางด้วย”
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ปีที่แล้วเขายกเลิกมาร่วมงาน แต่ปีนี้มาแน่ และจะมาประชันมุมมองว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชนิดที่สวนทางกับเกรตา ทุนเบิร์ก นักต่อสู้ต้านโลกร้อน