โพลเผยเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4 เดี้ยง
"อีสานโพล" มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำรวจภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4 ปี 62 พบเศรษฐกิจอีสานเดี้ยง ความเชื่อมั่นดิ่งเหว 10 ไตรมาสซ้อน คะแนนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลและผลงานโดยรวมต่ำกว่า 35% ชี้ควรปรับทีมเศรษฐกิจใหม่
ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4/2562” พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 4/2562 เท่ากับ 82.7 ซึ่งต่ำกว่า 100 เป็นไตรมาสที่ 10 ติดต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ในส่วนคะแนนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ 33.5 จากเต็ม 100 และผลงานโดยรวมได้เพียง 34.1 ด้วยสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เอกชนยังขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ค่าเงินบาทแข็ง เศรษฐกิจฐานล่างที่อ่อนแอ ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่คุ้มต้นทุน ภัยแล้ง และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาลในการแก้ปัญหา และกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าควรมีการปรับทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
โดยการสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัด เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 4/2562 และประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-19 มกราคม 2563 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,077 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ เศรษฐกิจและการค้าของจังหวัด รายได้ครัวเรือน สภาพคล่องการเงินครัวเรือน และการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของครัวเรือน และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งมีค่าระหว่าง 0 - 200 โดยถ้าค่าดัชนี ต่ำกว่า 100 คือ แย่ลง/ลดลง เท่ากับ 100 คือ ทรงตัว/เท่าๆเดิม และมากกว่า 100 คือ ดีขึ้น/เพิ่มขึ้น
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ได้คะแนน 33.5 เต็ม 100 ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในไตรมาสที่แล้วซึ่งได้คะแนน 36.9 ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาได้คะแนน 34.1 ลดลงมากเมื่อเทียบกับการสำรวจในไตรมาสที่แล้วซึ่งได้คะแนน 35.7
เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างให้ความคิดเห็นควรมีการเปลี่ยนทีมรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศหรือไม่ พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างอันดับหนึ่งร้อยละ 38.4 เห็นด้วย รองลงมาค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 36.8 ตามมาด้วย ค่อนข้างไม่เห็นด้วยร้อยละ 18.2 และมีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ไม่เห็นด้วย