'ทีจี' ชง 'คมนาคม' มี.ค.นี้ รื้อแผนจัดซื้อฝูงบิน
“บินไทย” รื้อใหญ่แผนจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ ชูโมเดลนำเครื่องเก่าแลกเครื่องใหม่ หวังลดต้นทุนและค่าเสื่อม แก้ปัญหาขายเครื่องบินเก่าไม่ได้ เตรียมถก “กรมบัญชีกลาง” แก้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง คาดชงแผนให้ “คมนาคม” ภายใน มี.ค.นี้
การจัดหาฝูงบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาท สะดุดมาตั้งแต่ปี 2561 โดยการบินไทยถูกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไปปรับแก้แผนการจัดหาเครื่องบินมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การจัดทำแผนจัดหาเครื่องบินใหม่อยู่ระหว่างเร่งปรับรายละเอียดบางส่วนของแผนให้สอดคล้องกับ สถานะทางการเงิน สถานการณ์แข่งขันของธุรกิจการบิน และภาพรวมของธุรกิจการบินไทยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าจะสามารถสรุปแผนจัดหาเครื่องบินให้แล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในเดือน มี.ค.นี้
ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการการบินไทยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารได้นำเสนอความคืบหน้าในการจัดทำแผนจัดหาเครื่องบินในเบื้องต้นให้คณะกรรมการการบินไทยพิจารณารับทราบไปแล้ว 1 ครั้ง แต่จะต้องนำแผนกลับมาปรับแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการขายเครื่องบินใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยมักจะถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าขายเครื่องบินเก่าที่ปลดระวางไม่ได้ และใช้เวลาในการขายนานจนสร้างภาระค่าเสื่อมราคาสะสมจำนวนมากให้กับบริษัท
สำหรับแนวทางการปรับแก้แผนจัดหาเครื่องบินใหม่นี้ การบินไทยมีเป้าหมายที่จะต้องทำแผนขายเครื่องบินให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการการบินไทยเห็นภาพรวมของการจัดหาและขายเครื่องบินว่าสอดคล้องกันอย่างไร
โดยเบื้องต้น การบินไทยจะปรับแผนการขายเครื่องบินที่ปลดระวางใหม่ทั้งหมด ใช้วิธีการแลกเครื่องบินเก่า หรือเครื่องที่ปลดระวางรอการขาย กับเครื่องบินใหม่ที่เตรียมจัดหา เพื่อให้การซื้อและขายเครื่องบินทำได้เร็วขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นแนวทางช่วยลดภาระค่าเสื่อมราคาของเครื่องบินเก่าที่จอดรอการขายเป็นเวลานานด้วย
นายสุเมธ กล่าวว่า แนวทางการจัดหาเครื่องบินใหม่ของการบินไทย ต่อไปนี้จะต้องกำหนดแผนให้ชัดเจนว่าจะหาเครื่องบินใหม่ ต้องเกิดพร้อมกับการขายเครื่องบินเก่า หรืออาจจะเลือกใช้วิธีแลกเปลี่ยนเครื่องบินภายใต้สัญญาฉบับเดียว เพราะวิธีนี้จะทำให้การบินไทยบริหารจัดการฝูงบินได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเป็นแนวทางลดต้นทุน และภาระค่าเสื่อมด้วย
หารือแก้ระเบียบจัดซื้อ
ทั้งนี้ เบื้องต้นฝ่ายจัดการของการบินไทยอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและกรมบัญชีกลาง เพื่อขอแก้ไขระเบียบ หลักเกณฑ์ของรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 เพื่อให้การบินไทยสามารถใช้วิธีการแลกเปลี่ยน หรือใช้วิธีการชำระราคาด้วยสิ่งของได้ด้วย นอกเหนือไปจากการใช้รูปแบบการซื้อและการขายเท่านั้น
“เป้าหมายแรกที่ตั้งไว้ เราจะแลกเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง จำนวน 17 ลำจากจำนวนเครื่องที่มีทั้งหมด 82 ลำ เพื่อแลกกับเครื่องบินใหม่ที่อยู่ในแผนการจัดหา โดยจะเริ่มแลกได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จนถึงปี 2567 หรือภายในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายสายการบินในโลกใช้วิธีการแลก หรือแม้กระทั่งกองทัพของไทยก็เคยใช้วิธีนี้ในการแลกรถเก่ากับรถใหม่ ดังนั้นเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้”นายสุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบินปลดระวางที่รอการขายรวม 16 ลำวงเงินราว 4 พันล้านบาท รวมทั้งในช่วงปลายปีนี้การบินไทยจะมีการรับมอบเครื่องบินเช่า โบอิ้ง777-300 ER จำนวน 2ลำ จากที่เช่าทั้งหมด 3 ลำเข้ามาเสริมธุรกิจเนื่องจากปีหน้าสมาชิกสหภาพยุโรปจะมีการบังคับใช้ระเบียบใหม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการบิน หากการบินไทยไม่เช่าเครื่องแบบใหม่มาบินจะทำให้เครื่องการบินไทย ไม่สามารถบินเข้ายุโรปได้ ส่งผลให้ต้องเร่งจัดหาด้วยการเช่ามาใช้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการในเส้นทางยุโรป
สำหรับการจัดหาฝูงบินใหม่จำนวน 38 ลำ ที่การบินไทยเคยวางแผนไว้และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการบินไทยไปก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นแผนจัดหาระหว่างปี 2562-2569 วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 156,169 ล้านบาท ซึ่งการจัดหาจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ปี 2562-2567 จำนวน 25 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 78,614 ล้านบาท ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้าง พิสัยกลาง-ไกล ขนาด 250-375 ที่นั่ง จำนวน 3 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบพิสัยใกล้ ขนาด 170-220 ที่นั่ง จำนวน 22 ลำ
และปี 2563-2569 จำนวน 13 ลำ พร้อมเครื่องยนต์สำรอง วงเงินลงทุนรวมไม่เกิน 77,555 ล้านบาท เพื่อทดแทนการปลดระวางเครื่องบินแอร์บัส A380-800 และเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER