'ทีพีไอพีพี' เล็งลงทุนซื้อกิจการ หรือร่วมทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนใหม่
“ทีพีไอพีพี” ลุ้นผลเจรจาซื้อกิจการหรือร่วมทุน โรงไฟฟ้าขยะชุมชนใหม่ อย่างน้อย 2 โครงการ พร้อมผุดตั้งโรงผลิตเชื้อเพลิง อาร์ดีเอฟ เพิ่มที่นครปฐม และลพบุรี หนุนกำลังผลิตแตะ 4,000 ตันต่อวัน ดันรายได้ปี 63 โตตามเป้ากว่า 15% คาดกำไรนิวไฮต่อเนื่องทุกไตรมาส
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัท ได้ตั้งงบประมาณสำหรับรองรับขยายการลงทุนในปี 2563 วงเงินรวมอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อีก 2,000 ล้านบาท จะใช้ขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิง RDF และการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานต่าง ๆโดยในส่วนของการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่นั้น บริษัท อยู่ระหว่างมองหาโอกาสเข้าลงทุนเพิ่มเติมใน 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2558-2579 (PDP2015) หรือ โควตาเก่า ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนนี้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ เหลืออีกกว่า 100 เมกะวัตต์ยังไม่ได้ COD และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะมีทั้งในส่วนของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและยังไม่เริ่มดำเนินการ ซึ่งก็มีผู้ประกอบการบางรายได้มาเจรจาขายกิจการ และเชิญชวนให้กับบริษัทร่วมลงทุน ประมาณ 3-4 ราย กำลังการผลิตรายละ 9 เมกะวัตต์ บริษัท ก็สนใจและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในนปลายไตรมาส 1 ปีนี้
ส่วนที่สอง เป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผน PDP2015 เดิมเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้ ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีโควตาการขายไฟฟ้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน และคาดว่า จะเปิดการประมูลได้ในปีนี้ ซึ่งบริษัทก็สนใจและเตรียมพร้อมเข้าประมูลในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และจ.สงขลา
ส่วนที่สามเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ที่มีโควตารับซื้อเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ แม้ว่าขณะนี้ ทาง กกพ.จะยังไม่ได้ประกาศรับซื้ออย่างเป็นทางการ แต่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดูแลโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ได้เริ่มกระบวนการเตรียมเปิดประมูลไว้แล้ว โดยเบื้องต้น ทาวองค์กรปกครองท้องถิ่น ได้ทยอยเข้าไปยื่นเสนอโครงการต่อกระทรวงมหาดไทยแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้ ทางบริษัทก็ได้เข้าไปเจรจากับองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว ประมาณ 3 แห่ง กำลังการผลิตราว 10 เมกะวัตต์ต่อแห่ง รวมถึง ยังมองหาโอกาสเจรจากับองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
“บริษัท คาดหวังว่า จะได้รับสิทธิให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะใหม่ในปีนี้ อย่างน้อย 2 โครงการ กำลังการผลิตโรงละ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากขยะในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก บริษัทจึงโฟกัสการลงทุนในประเทศเป็นหลัก และผับแผนการลงทุนในต่างประเทศไปก่อน”
นอกจากนี้ บริษัท ยังสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่ประมาณการณ์ว่า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 100 เมกะวัตต์ ซึ่ว บริษัทมีความสนใจในพื้นที่จ.ชลบุรี ที่มีปริมาณขยะจำนวนมาก และคาดว่าจะะมีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าได้ถึง 60 เมกะวัตต์ เบื้องต้นได้เข้าไปเจรจากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ชลบุรีแล้ว ถึงแม้ขณะนี้ ทางภาครัฐจะยังไม่ประกาศแผนงานที่ชัดเจนออกมา แต่เชื่อว่า การดำเนินการจะไม่ล่าช้า เพราะเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุนซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดปริมาณขยะในพื้นที่เพิ่มขึ้น จาก ปัจจุบันขยะในพื้นที่ EEC มีราว 3,000 ตันต่อวันเท่านั้น แต่หากมีการขยายการลงทุนตามแผนของภาครัฐภายใน 7 ปี จะมีปริมาณขยะ เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 12,000 ตันต่อวัน ทำให้มีโอกาสเกิดการจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้ถึง 200 เมกะวัตต์
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแผนจะผลักดันโครงการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อมุ่งส่งเสริมเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่ หวังสร้างเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบภาคใต้นั้น เบื้องต้น ทางศอ.บต.ได้เชิญบริษัทที่มีศักยภาพของประเทศเข้าไปร่วมหารือ ซึ่งกลุ่มบริษัทก็ให้ความสนใจที่จะเข้าไปร่วมพัฒนาโครงการด้วย เนื่องจากมีความพร้อมด้านที่ดิน โดยให้ความสนใจในส่วนของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า ท่าเรือ และปิโตรเคมี แต่มองว่าโครงการนี้ ยังคงไม่เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะภาครัฐน่าจะโฟกัสการลงทุนในพื้นที่EEC ก่อน
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ บริษัท ยังมีแผนขยายกำลังการผลิตเชื้อเพลิงRDF อย่างน้อย 2 แห่ง ในจ.นครปฐม และจ. ลพบุรี ใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาทต่อแห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิต RDF เป็นเกือบ 4,000 ตันต่อวัน โดยกำลังผลิตRDF ราว 2,600 ตันต่อวัน จะส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท และเตรียมที่จะป้อน RDF ให้กับโรงปูนของ TPIPL ราว 1,200 ตันต่อวัน จะเริ่มในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งในส่วนการขายให้โรงปูนจะสร้ายรายได้ให้บริษัทราว 1 พันล้านบาทต่อปีและในอนาคตก็มีโอกาสที่จะขาย RDF ให้กับโรงปูนต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อรองรับโอกาสที่โรงปูนหลายแห่งหันมาใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินเนื่องจากมีราคาถูกกว่าถ่านหินราว 25% ขณะที่ค่าความร้อนอยู่ในระดับเท่ากัน
ขณะที่ การก่อสร้างโรงงาน RDF เพิ่มและเสร็จสิ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงาน RDF อยู่ 6 แห่ง ในจ.สระบุรี , สมุทรสาคร , พระนครศรีอยุธยา ,ชลบุรี ,นครราชสีมา และปทุมธานี ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงได้อย่างน้อย 20% จากเดิมต้องรับซื้อ RDF มีต้นทุนสูง 1,200-1,300 บาทต่อตัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ทำให้จะลดลงเหลือการรับซื้อราว 20% และที่เหลือ สัดส่วน 40% มาจากโรงงานของบริษัท
ทั้งนี้ จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว บริษัท คาดหมายว่า จะสนับสนุนให้กำไรสุทธิในปี 63 มีโอกาสที่จะทำระดับสูงสุดใหม่(นิวไฮ)ต่อเนื่องทุกไตรมาส จากปี 2562 และปีนี้ ตั้งเป้าหมาย จะมีรายได้อยู่ที่ ระดับ 1.3 หมื่นล้านบาท จากปี2562 ที่คาดว่าทำได้ราว 1.05 หมื่นล้านบาท แม้ว่า ปีนี้จะไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบหลังจากเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ครบ 440 เมกะวัตต์ (MW) แล้ว แต่จากการปรับปรุงประสิทธิภาพของหม้อไอน้ำ (Boiler) และสร้าง Boiler เพิ่มเติมในปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และหนุนให้รายได้จากการขายไฟฟ้าในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน และเมื่อรวมกับรายได้จากสถานีบริการน้ำมันและก๊าซฯที่มีอยู่ 3 แห่งเพื่อจำหน่ายให้กับระบบส่งของโรงงานปูนซีเมนต์ในกลุ่มบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) หรือ TPIPL ราว 700-800 ล้านบาทต่อปี และรายได้จากการขายจากเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จะทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ต่ำกว่า 15%