ดีเอสไอ มีเวลา 1 เดือนพิจารณาความเห็นแย้งอัยการ สั่งไม่ฟ้อง “ชัยวัฒน์”และพวก คดีฆาตกรรมบิลลี่
ชี้ ไม่มีอำนาจหาหลักฐานเพิ่มเติม หากพนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว
พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และรองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดแถลงข่าวร่วมกับคณะสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวบ้านโป่งลีก-บางกลอยที่หายตัวไปในปี 257 ก่อนดีเอไอจะพบเศษกระดูกที่คาดว่าจะเป็นของนายบิลลี่ หลังการตรวจพันธุกรรมเทียบเคียงกับมารดา 5 ปีต่อมา และส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาฟ้องเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
โดยหลังจากที่ได้รับสำนวนพร้อมความเห็นของอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเป็นหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานในขณะนั้นและพวก, พ.ต.ต. วรณัน กล่าวว่า เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน และทราบถึงการทำงานต่อไปจากนี้ของกรมฯ จึงเป็นมาของการสรุปกระบวนงานของกรมฯ ให้สื่อมวลชนและประชาชนรับทราบ
โดย พ.ต.ต. วรณัน กล่าวว่า ทางสำนักงานอัยการพิเศษได้มีหนังสือลงวันที่ 23 มกราคม ส่งความเห็นในการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดอื่นๆรวม 8 ฐานมายังกรมฯ เนื่องจากอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในบางข้อหา
เมื่อทางกรมฯ รับสำนวนและความเห็นจากทางอัยการเอาไว้เมื่อวันที่ 24 มกราคม, กรมฯ จะมีกองบริหารหน่วยงานคดีพิเศษตรวจและทำความเห็นถึงอธิบดี ดีเอสไอ
โดยกองฯ จะตรวจสำนวนและฟังความเห็นของพนักงานอัยการว่า มีคำสั่งไม่ฟ้องแต่ละข้อหามีเหตุผลประกอบคำสั่งอย่างไร แล้วเสนอผู้บังคับบัญชาว่าเห็นด้วยหรือเห็นต่างในแต่ละสำนวนความผิด ถ้าเห็นด้วย ก็จะเสนอความเห็นไม่แย้งให้อธิบดี เพื่อแจ้งพนักงานอันการ สิ้นสุดกระบวนการสั่งไม่ฟ้อง
แต่ถ้ากรมฯโดยอธิบดีเห็นแย้ง ก็จะส่งสำนวนกับความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ตามกฏหมาย
“กรมฯ มีระเบียบ พิจารณาความเห็นพนักงานอัยการใน 1 เดือน ถ้ายังไม่เสร็จ ก็ขอขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็น” พ.ต.ต. วรณันกล่าว
พ.ต.ต. วรณัน กล่าวว่า เมื่อดีเอสไอสอบคดีเสร็จ การจะหาหลักฐานเพิ่มเติมทำได้ขั้นตอนเดียว คือขั้นตอนการสั่งหาหลักฐานเพิ่มเติมของพนักงานอัยการก่อนสั่งคดี แต่กรณีนี้ ถือว่าผ่านขัเนตอนนั้นมาแล้ว เพราะพนักงานอัยการมีคำสั่งแล้ว การทำงานของกรมฯ คงไม่สามารถไปแสวงหาข้อเท็จจริงอื่นได้อีกเพราะไม่มีอำนาจตามกฏหมาย พ.ต.ต. วรณัน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสั่งไม่ฟ้องเลย โดยไม่สั่งสอบเพิ่มของอัยการถือว่าเป็นเรื่องปกติหรือไม่ พ.ต.ต. วรณัน กล่าวสั้นๆว่า เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ
ทางด้าน ผศ.นพ. วรวีร์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ตรวจชิ้นกระดูกกะโหลกศรีษะที่มีพันธุกรรรมเทียบเคียงทางมารดาของนายบิลลี่ กล่าวว่า การตรวจหาสารพันธุกรรมที่ใช้ในกรณีนี้คือ การที่เราตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมไมโตรคอนเดรียดีเอนเอ ซึ่งเป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานของการพิสูจน์หลักฐานจากกระดูก หรือหลักฐานที่มีปัญหาเสื่อมสภาพ
“การตรวจแบบนี้ เป็นการตรวจที่เราใช้อยู่ตามปกติ ไม่ว่าประเทศไหนก็ใช้แบบนี้ ในกรณีที่มีความเสื่อมสภาพของหลักฐาน” ผศ.นพ. วรวีร์ กล่าว
ผศ.นพ. วรวีร์ อธิบายว่า ทางนิติวิทยาศาสตร์ ไมโตรคอนเดรีย จะเป็นการสืบสายพันธ์จากมารดาสู่บุตร ไมโตรคอนเดรียจะอยู่นอกนิวเคลียส โอกาสที่ลักษณะทางพันธุกรรมจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว้าดีเอนเอปกติคือในนิวเคลียส
ตามหลักวิชาการ จะใช้เวลาในการถ่ายทอด 2 รุ่น จากยายสู่หลาน ถ้าถ่ายทอดต่อจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ผศ.นพ. วรวีร์ กล่าว
“ในกรณีนี้ เราพบว่า จากกระดูกที่เราได้รับจากกรมฯ เมื่อเทียบกับแม่บิลลี่ ตรงกันทุกประการ ทำให้เราตีกรอบว่า กระดูกนี้น่าจะมีการสืบสายโลหิตในรูปแบบไมโตรคอนเดียเดียวกับของคุณแม่บิลลี่”
“เรายืนยันการสืบสายโลหิตเท่านั้น แต่เรื่องการยืนยันตัวบุคคล ต้องใช้การประกอบการสืบสวนสอบสวนสาแหรกของสายพันธ์คุณแม่บิลลี่และญาติทางแม่บิลลี่ต่อไป” ผศ.นพ. วรวีร์ กล่าวและตอบย้ำว่า จากกระดูกที่พบเป็นสายสัมพันธ์เดียวกันที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก จะเป็นยายคนเดียวกัน หรือแม่คนเดียวกันก็ได้
ผศ.นพ. วรวีร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ไมโตรคอนเดียเป็นวิธีที่ใช้อยู่ โดยเฉพาะกับเคสบุคลสูญหาย เหลือแต่โครงกระดูกที่เสื่อมสลาย ไม่สามารถตรวจดีเอเอปกติได้แล้ว ก็จะใช้ไมโตรคอนเดีย กับการสอบสวนประกอบว่าใครบ้างที่อยู่ในสายนี้หายไป ในห้วงเวลาเท่าไหร่ แล้วมาตีกรอบว่าใครว่าที่หายไป
“มีหลายคดีที่ใช้ไมโตรคอนเดรียในการประกอบรับฟังในศาล ไม่ใช่เฉพาะไทย อเมริกา FBIก็ใช้ แต่ว่าก็ต้องมีใช้หลักฐานอื่นประกอบ” ผศ.นพ. วรวีร์ กล่าว
ทางด้านพ.ต.ท. เชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาคและพ.ต.ท. เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ต่างยืนยันว่าได้ทำการสืบสวนสอบสวนญาติตามสายตาะกูลดังกล่าว และพบว่าไม่มีใครหายไปนอกจากบิลลี่ ซึ่งได้ทำการสอบสวนสิบสวสอย่างรีกกุมจนนำไปสู่การออกหมายจับของศาล