บิ๊กคอร์ปอเรทงัดกลยุทธ์ ปันผล-ซื้อหุ้น หวังพยุงราคา
ชั่วโมงนี้ปัจจัยลบไวรัสโคโรนากลายเป็นวิกฤติให้กับภาคธุรกิจไปแล้ว และลุกลามไปยังตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุดหลุด 1,500 จุด (3 ก.พ.) ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงและมีผลระยะสั้นหรือลากยาวไปจนถึงช่วงเทศกาลสงการต์ของไทยในเดือนเม.ยหรือไม่นั้นคาดได้ยาก
ดังนั้นการจะรอให้สถานการณ์ทุเลาจนกลับมาเป็นปกติ ในสายตาของบิ๊กคอร์ปอเรทคงจะไม่ทันการณ์ ยิ่งตลาดหุ้นที่มีความอ่อนไหวและสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าออกได้ง่าย หากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบราคาหุ้นจะปรับลงไปแรง
เครื่องมือที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะนำมาพยุงราคาหุ้นและยังเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้มีหลายด้าน หลักๆที่มักจะเห็นคือการซื้อหุ้นคืนในตลาด (Treasury Stock ) ซึ่งตามเกณฑ์ต้องเป็นบริษัทที่มีกำไรสะสมและสภาพคล่องทางการเงินสูงกว่าความต้องการใช้ดำเนินธุรกิจในช่วงระยะเวลาดำเนิน โครงการซื้อหุ้นคืน ซึ่งเรียกง่ายว่า มีเงินสดในมือมากกว่าหนี้สิน ในช่วงประกาศซื้อหุ้นคืน
ประจวบกับช่วงนี้เป็นฤดูการประกาศผลดำเนินของบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2562 ซึ่งจะมีการประกาศจ่ายปันผลเข้ามาเป็นแรงหนุนอีกปัจจัย ซึ่งตามแนวโน้มมีการคาดการณ์กำไรลดลงจากปี 2561 โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหา ฯ กลุ่มการเงิน กลุ่มพาณชย์ เป็นต้น ทำให้เป็นโอกาสของบริษัทที่มีเงินสดในมือนำมาบริหารผ่านเครื่องมือเหล่านี้
ปรากฎว่าในช่วงม.ค. บิ๊กคอร์ปอเรทพาเรดออกโครงการซื้อหุ้นคืนเป็นแถว เริ่มจากกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่เจอเรื่องมาตรการ LTV ปี 2562 ทำเอาผลประกอบการซวนเซข้ามปีถึงปี 2563 เพราะยอดขาย รายได้ การออกโครงการใหม่ลดลงถ้วนหน้ายิ่งในพอร์ตคอนโดมีเนียมกระทบหนัก จนแบงก์ชาติต้องยอมผ่อนปรนมาตรการลงมา
หากแต่ราคาหุ้นและอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ลงมาต่ำกว่า 10 เท่า และยังไม่มีทีท่าจะฟื้น บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI ตั้งแต่ต้นปีราคาร่วงลดลงไปแล้วเกือบ 10 % แต่ในปี 2562 ราคาต่ำสุดช่วงเดือน พ.ย. ลดลง 12.6 % แม้จะเป็นหุ้นที่แข็งแกร่ของกลุ่มในแง่กำไรแต่ยอดขายที่ลดลงไตรมาส 4 ปี 2562 ถึง 26 % จากไตรมาสก่อน ทำให้ราคาหุ้นบวกไม่ไหว
บริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน 120 ล้านหุ้น เม็ดเงิน ไม่เกิน 2,000 ล้านบาท หรือ 5.6 % ของจำนวนหุ้นจำหน่ายทั้งหมดตั้งแต่ 12 ก.พ. – 11 ส.ค. 2563 และเมื่อดูการจ่ายปันผลพบว่าระหว่างกาลจ่ายไปแล้ว 0.40 บาท บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส คาดงวดปี 2562 จะจ่ายปันผลรวม 1 บาท อัตราปันผลมากกว่า 5 %
ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารที่เจอปัจจัยลบตามภาวะเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พุ่งสูงต่อเนื่อง ทำให้ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK )ตัดสินใจเซอร์ไพส์ประกาศซื้อหุ้นคืนเป็นครั้งแรกของธนาคารและของกลุ่มแบงก์ จำนวน 23.9 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1 % ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายทั้งหมด มูลค่าไม่เกิน 4,600 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 14-27 ก.พ. 2563
พร้อมกับการจ่ายปันผลแบบจัดหนัก 4.50 บาท รวมกับที่จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.50 บาท เท่ากับทั้งปี 2562 จ่าย 5 บาท เพิ่มขึ้นจากงวดปี 2561 ถึง 31 % คิดเป็นอัตราการจ่ายปันผล 3.3 %
ขณะที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) แม้จะไม่มีโครงการซื้อหุ้นคืนแต่ใช้การจ่ายปันผลมาลดผลกระทบที่ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงจนหลุดระดับ 100 บาท อัตราการจ่ายปันผลปี 2562 อยู่ที่ 5 %โดยเป็นการจ่ายระหว่างกาล 1.50 บาท และงวดสิ้นปีอีก 0.75 บาท รวม 2.25 บาท
หันมาดูกลุ่มก่อสร้าง ควรได้จะปัจจัยบวกการลงุทนภาครัฐแต่กับมาสะดุดงบพรบ.ปี 2563 ทำท่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจากการเสียบบัตรแทนกัน บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ตุนงานในมือ สิ้นปี 2562 แค่ 40,000 ล้านบาท ต้องประกาศซื้อหุ้นคืน 169 ล้านหุ้น คิดเป็น 10 % หุ้นที่จำหน่ายทั้งหมดมูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ระหว่าง 2 มี.ค.-1 ก.ย. 2563
ด้านเงินปันผล บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดทั้งปีอยู่ที่ 0.30 บาท จากครึ่งปีแรกปันผลไปแล้ว 0.20 บาท คิดเป็นอัตราปันผลมากกว่า 3 % ปิดท้าย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่ปันผลสูงไม่แพ้กัน ทั้งปีที่ 2.87 บาท เป็นอัตราการจ่ายปันผลที่ 3.6 %