‘COVID-19’ พลิกโฉมเทคโนโลยีจีนขนาดไหน?
แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในจีน ทำให้ผู้คนหลายล้านต้องอยู่ติดกับบ้าน สร้างความเสียหายต่อหลายอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว แต่ในวิกฤตินี้ก็ยังมีโอกาสสำหรับภาคเทคโนโลยีเช่นกัน
สำหรับคนที่อยู่แต่ในบ้านเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อไวรัส สถานการณ์นี้ได้พลิกโฉมวิธีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของชาวจีนไปอย่างสิ้นเชิง บริษัทไฮเทคต่าง ๆ จำเป็นต้องสรรหากลยุทธ์ที่สร้างสรรค์ในการให้บริการผู้บริโภคที่ก่อนหน้านี้นิยมออกไปทำกิจกรรมในที่สาธารณะ เช่น เข้ายิม หรือไปโรงภาพยนตร์
แต่ตอนนี้ พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาลองบริการเสมือนจริง (virtual) ผ่านออนไลน์กันมากขึ้น และในช่วงเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เทคโนโลยีของจีนเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และหลายบริการที่อยู่บนออนไลน์ก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
- บริการส่งอาหารแบบไม่เจอหน้า
ด้วยความที่ผู้คนติดอยู่กับบ้านและอาหารก็ถูกแห่ซื้อหมดร้านอย่างรวดเร็ว บริษัทส่งอาหารจึงถือโอกาสนี้ปรับรูปแบบและขยายบริการรองรับชาวเมืองที่กำลังหิวโหยและขี้เกียจออกไปไหน
แต่ก็เหมือนกับทุกคนในตอนนี้ บรรดาผู้ให้บริการต้องป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรน่าด้วยเช่นกัน “เหม่ยถวน” แอพพลิเคชั่นส่งอาหารชื่อดังของจีนเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายแรก ๆ ที่เปิดบริการ “ส่งอาหารแบบไม่ต้องเจอหน้า” ซึ่งหมายถึงให้คนขับนำอาหารไปวางไว้ในสถานที่ที่กำหนดเพื่อให้ลูกค้าไปรับเอง
นอกจากนี้ เหม่ยถวนยังติดตั้งตู้สำหรับคืนกล่องอาหารรอบโรงพยาบาลหลายแห่งเพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคลากรการแพทย์ของอู่ฮั่นที่กำลังทำงานหนักตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับมือไวรัส
สัปดาห์ที่แล้ว “เคเอฟซี” ยักษ์ใหญ่ฟาสต์ฟู้ด และ “พิซซ่าฮัท” เชนร้านพิซซ่าชื่อดัง ก็เริ่มให้บริการแบบเดียวกัน และยังครอบคลุมนอกเหนือจากการส่งอาหารด้วย ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า บริษัทอีคอมเมิร์ซหลายรายเตรียมจะให้บริการส่งอาหารแบบไม่เจอหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสเช่นกัน
- ชั้นเรียนออนไลน์
ลองนึกภาพการเข้าห้องเรียนผ่าน “ยูทูบ” เว็บไซต์วิดีโอระดับโลก นี่อาจไม่ใช่เรื่องคุ้นชินสำหรับบางประเทศ แต่จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันในประเทศจีน ซึ่ง “โยวคู่” เว็บไซต์วิดีโอหรือยูทูบเวอร์ชั่นจีน ได้เริ่มให้บริการชั้นเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลาย หลังโรงเรียนงดการเรียนการสอนไม่มีกำหนดเพื่อเลี่ยงไวรัสระบาด
ส่วนบริษัทด้านการศึกษารายอื่น ๆ ก็ให้บริการคลาสเรียนออนไลน์ฟรีในช่วงที่ไวรัสยังระบาด ซึ่งรวมถึง “นิว โอเรียนทัล กรุ๊ป” บริษัทการศึกษาเอกชนรายใหญ่ที่สุดของจีน และ “วีไอพีคิด” (VIPKid) แพลตฟอร์มที่เน้นการเรียนภาษาอังกฤษ
แต่ที่อาจดูแปลกตาหน่อยคือ บริการยิมแบบเสมือนจริงเพื่อช่วยให้ลูกค้ายังฟิตแอนด์เฟิร์มเหมือนเดิม หลังจากคลับฟิตเนสหลายแห่งในจีนจำเป็นต้องปิดทำการ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ยิมที่ให้บริการคลาสฟิตเนสออนไลน์บนแพลตฟอร์มวิดีโอ "โต่วอิน" หรือแอพพลิเคชั่นติ๊กต่อก (TikTok) เวอร์ชั่นจีน มีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย
ขณะที่แอพพลิเคชั่นสุขภาพอย่าง “คีป” (Keep) ที่ถ่ายทอดสดชั้นเรียนฟิตเนสออนไลน์ เผยว่า มีรายได้รอบสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. เพิ่มขึ้น 15%
- หนังย้ายแพลตฟอร์ม ไม่ง้อโรง
ในขณะที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สร้างความเสียหายต่อยอดขายตั๋วโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศจีน แพลตฟอร์มวิดีโอต่าง ๆ ก็ถือโอกาสนี้ชิงจังหวะเปิดให้ชมภาพยนตร์เรื่องฮิตล่าสุดแทน
“ซีกวา” แอพพลิเคชั่นทำคลิปวิดีโอของบริษัทไบต์แดนซ์ เจ้าของแอพติ๊กต่อก มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึง 77% ระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. หลังประกาศว่าจะฉายภาพยนตร์แนวครอบครัวเรื่อง Lost in Russia ให้ดูฟรีทางออนไลน์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเวลายอดนิยมสำหรับผู้ที่ชอบออกจากบ้านไปชมภาพยนตร์ในโรง
นี่เป็นผลจากความหัวใสของไบต์แดนซ์ที่ทำข้อตกลงฉาย Lost in Russia รอบปฐมทัศน์ผ่านแอพพลิเคชั่นของตัวเอง ซึ่งรวมถึงโต่วอิน ขณะที่ “ฮวนสี่ มีเดีย” ผู้ผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ฉาย Lost in Russia บนแพลตฟอร์มของตนด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ ภาพยนตร์อีกเรื่องที่ไม่ง้อโรงหนัง คือ "Enter the Fat Dragon" ของฮ่องกง ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นรีเมคจากปี 2521 และกำลังฉายผ่าน “อ้ายฉีอี้” แพลตฟอร์มวิดีโอของบริษัทไป่ตู้ และ “เทนเซ็นต์ วิดีโอ” ของบริษัทเทนเซ็นต์
แพลตฟอร์มวิดีโอหลายแห่งไม่ได้ถูกใช้เพื่อฆ่าเวลาเท่านั้น ผู้อยู่อาศัยในอู่ฮั่นซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่และถูกสั่งปิดเมืองอยู่ในขณะนี้ ต่างหันมาใช้แอพพลิเคชั่นคลิปวิดีโอสั้นอย่างโต่วอิน และไคว่โฉ่ว ในการแชร์ข่าวหรือวิดีโอล่าสุดเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคง “ยิ้มได้” แม้อยู่ในภาวะจำยอมให้เก็บตัวอยู่ในบ้านก็ตาม
- ซื้อบ้านผ่านวีอาร์ (VR)
การชมตัวอย่างบ้านด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือวีอาร์ (VR) ถูกนำมาใช้ทั่วโลกสักพักแล้ว แต่ด้วยความที่ผู้ตัดสินใจซื้อบ้านจำนวนมากขึ้นนิยมดูตัวอย่างบ้านจากทางไกลมากกว่าเดินทางมาดูเอง บรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์จึงหวังที่จะทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมแบบจริงจังสักที
58.com เว็บไซต์ฝากซื้อ-ขายบ้านรายใหญ่ที่สุดของจีน และ “อันจูเก้อ” (Anjuke) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดบริการวีอาร์แบบจำกัดเวลาและบริการไลฟ์สตรีมเพื่อทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกบ้านโดยไม่ต้องถ่อไปถึงสถานที่จริงด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่อาจใจไม่กล้าพอที่จะตัดสินใจซื้อบ้านจากสิ่งที่ตัวเองเห็นผ่านวีอาร์ โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่สามารถซูมดูร่องรอยสกปรกจุดเล็ก ๆ ได้
นอกจากนี้ บริการอื่น ๆ ก็ย้ายมาอยู่บนออนไลน์ รวมถึงบริการนัดพบแพทย์ ตอนนี้ผู้ใช้สามารถให้แพทย์ตรวจได้ว่ามีอาการบ่งชี้ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ผ่านแพลตฟอร์ม “วีแชท” หรือผ่านแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่ก่อตั้งโดยบริษัทไป่ตู้และสมาคมการแพทย์ปักกิ่ง
ขณะเดียวกัน “ผิงอัน กู๊ด ด็อกเตอร์” แพลตฟอร์มให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์ รายงานว่า มียอดดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นถึง 1,186% ระหว่างวันที่ 20-26 ม.ค. หลังไวรัสระบาด
- ยอดผู้เล่นเกมออนไลน์ทะลัก
ถ้าใครสงสัยว่าคนที่เบื่อกับการอยู่ติดบ้านวัน ๆ เขาทำอะไรกัน คำตอบอาจไม่น่าประหลาดใจนัก นั่นคือ “เล่นเกม”
อันที่จริงแล้ว เกมออนไลน์ต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากจนมีผู้เล่นล้นเซิร์ฟเวอร์ เช่น “เกม ฟอร์ พีซ” (Game for Peace) หรือเกมพับจี (PUBG) บนมือถือเวอร์ชั่นรีแบรนด์ใหม่ในจีน และยังเป็นหนึ่งในเกมยอดนิยมที่สุดของค่ายเทนเซ็นต์ด้วย
หลู จาง ครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในมณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน บอกว่า ปกติเธอใช้สมาร์ทโฟนในเวลาทำงานวันละ 3 ชั่วโมง แต่ช่วงหยุดตรุษจีนที่รัฐบาลประกาศขยายจาก 24-30 ม.ค. เป็น 24 ม.ค.-2 ก.พ. เธอใช้สมาร์ทโฟนไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพราะชีวิตประจำวันน่าเบื่อมาก ส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่มเกม และถ้านักเรียนเห็นว่าเธอออนไลน์อยู่ก็จะชวนมาเล่นด้วยกัน
ในช่วงที่เทรนด์การย้ายไปอยู่บนออนไลน์ของผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ กำลังมาแรง บรรดานักวิเคราะห์จากบริษัทเบิร์นสไตน์ รีเสิร์ช มองว่า บริษัทอินเทอร์เน็ตและโลจิสติกส์ในจีน เป็นธุรกิจไม่กี่อย่างที่ได้รับอานิสงส์ เพราะไวรัสระบาดทำให้สินค้าและบริการทุกอย่างหันมาทางออนไลน์กันหมด
นอกจากนี้ เผย เผย นักวิเคราะห์จากบริษัทซิโนลิงก์ ซีเคียวริตีส์ คาดว่า เฉพาะวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งเป็นวันก่อนตรุษจีน “ออเนอร์ ออฟ คิงส์” (Honour of Kings) เกมมือถือยอดนิยมของเทนเซ็นต์น่าจะโกยรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านหยวน หรือราว 8,850 ล้านบาท แซงหน้ารายได้ของเกมมือถือสัญชาติจีนทั้งหมดในแอพสโตร์ของแอ๊ปเปิ้ลตลอดช่วงตรุษจีนปี 2560
ในขณะที่รอบฉายภาพยนตร์และกิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ ต่างถูกยกเลิกในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงทัวร์นาเมนท์อีสปอร์ตรายการใหญ่ที่สุดของแดนมังกร แต่บรรดาเกมเมอร์จีนกลับได้ใช้เวลามากขึ้นกับกิจกรรมสุดโปรดของตัวเอง และเกมหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ก็คือเกมแนววางกลยุทธ์รับมือโรคระบาดอย่าง “เพลก อิงค์” (Plague Inc.)
เกมที่ถูกสร้างขึ้นมา 8 ปีนี้ กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่มียอดใช้จ่ายสูงที่สุดในระบบไอโอเอส (iOS) ในจีน เนื่องจากมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับไวรัสมรณะที่ระบาดไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน เกมเมอร์บางส่วนก็หันมารื้อฟื้นสกิลโรคระบาดในเกม “เวิลด์ ออฟ วอร์คราฟต์” (World of Warcraft) ที่สังหารผู้เล่นได้ทีละจำนวนมาก แต่นั่นก็เป็นเพียงเหตุการณ์ในโลกเสมือนจริงเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้อุตสาหกรรมเกมได้รับประโยชน์มหาศาลจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า แต่ทั้งบริษัทเกมและผู้เล่นยังไม่ลืมที่จะช่วยกันบริจาคเงินช่วยเหลือการยับยั้งไวรัสนี้ บริษัทเทคโนโลยีจีนหลายรายให้คำมั่นว่าจะระดมเงินหลายล้านหยวน และบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือแม้แต่ระบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และอัลกอริทึมสำหรับวิจัยรหัสพันธุกรรมไวรัสด้วย
-------------
ที่มา: