บจ.แห่พึ่ง ‘กรีนชู’ ช่วงไอพีโอ หวังสร้างความเชื่อมั่น รักษาเสถียรภาพราคา
ที่ปรึกษาการเงิน เผย บริษัทที่เตรียมขายหุ้น “ไอพีโอ” เริ่มนำหุ้น “กรีนชู” มาใช้มากขึ้น ชี้เดิมมีเฉพาะบริษัทใหญ่ ขณะ ปัจจุบันเริ่มเห็นหุ้นขนาดกลางนำมาใช้บ้าง หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน รักษาเสถียรภาพราคาหุ้น หลังปีที่ผ่านมาไอพีโอส่วนใหญ่ต่ำจอง
การจัดสรร “หุ้นส่วนเกิน” หรือ “กรีนชู ออปชั่น” ที่ใช้ในการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก(ไอพีโอ) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะถือเป็น “เครื่องมือ” หนึ่งที่ช่วย “พยุง” ไม่ให้ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาไอพีโอ เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา มักจะเห็นเฉพาะแค่ “หุ้นใหญ่” ที่นำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ เช่น บมจ.แอสเสท เวิร์ด คอร์ป(AWC) บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์(BAM) และตัวล่าสุดที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น(CRC)
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เริ่มเห็นหุ้นไอพีโอ “ขนาดกลาง” เริ่มนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้มากขึ้น เช่น บมจ.ไซมิส แอทเสท(SA) ที่เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอราว 230 ล้านหุ้น พร้อมจัดสรรหุ้นกรีนชูไม่เกิน 30 ล้านหุ้น และ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์(SAV) ซึ่งเสนอขายหุ้นไอพีโอ 224 ล้านหุ้น และมีหุ้นกรีนชูด้วย เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดจำนวน
นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้หุ้นขนาดกลางเริ่มนำกรีนชูมาใช้มากขึ้นในช่วงเสนอขายไอพีโอ เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลานี้มีความผันผวนสูง จึงต้องการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาจองซื้อ อย่างน้อยมีเครื่องมือ หรือมีกลไกที่ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนแรกหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เธอเชื่อว่า แนวโน้มระยะข้างหน้า คงได้เห็นหุ้นไอพีโอมีการนำ กรีนชู มาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดยังมีความผันผวนสูง ซึ่งข้อดีของการใช้กรีนชู คือ ช่วยสร้างความมั่นใจในระดับหนึ่งให้กับผู้ลงทุนรายย่อย และช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้นช่วง 1 เดือนแรกที่เข้าเทรด
ส่วนข้อเสีย คือ ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่นำหุ้นมาให้ยืมเพื่อทำกรีนชู มีสัดส่วนหุ้นลดลง (ไดรูท) ในกรณีที่ราคาหุ้นนั้นไม่ได้ต่ำกว่าราคาจองจึงไม่ได้สิทธิในการเข้าไปซื้อหุ้นในส่วนนั้นคืนมา ทำให้บริษัทต้องเพิ่มทุนเพื่อนำหุ้นมาคืนแก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ให้ยืมหุ้น ในกรณีที่มีเงื่อนไขตกลงกันว่า ต้องการได้หุ้นนั้นคืน
นายเล็ก สิขรวิทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า หุ้นไอพีโอในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วมักมีราคาต่ำกว่าราคาจองซื้อ แม้แต่หุ้นบางตัวที่มีกรีนชูก็ยังเผชิญภาวะดังกล่าวด้วย ทำให้บริษัทที่เตรียมเสนอขายหุ้นในปีนี้ เริ่มมองว่า การมีกรีนชู น่าจะดีกว่าไม่มี เพื่อสร้างความมั่นใจแก่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ รวมถึงนักลงทุนที่มาจองซื้อ
สำหรับ หุ้นไอพีโอ ที่เข้ามาจดทะเบียนแล้วได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนและราคาสูงกว่าราคาจองได้นั้น ปัจจัยสำคัญสุดอยู่ที่พื้นฐานของบริษัท เช่น ธุรกิจมีการเติบโต ตั้งราคาที่เหมาะสม โดยสาเหตุที่ SA ซึ่งทางบริษัทเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และเพิ่งยืนแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น(ไฟลิ่ง) ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) โดยกำหนดให้มีกรีนชูด้วยนั้น ก็เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน
"ในปีที่ผ่านมามีหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ขายหุ้นไอพีโอแล้วมีกรีนชู แม้ผลที่ออกมาจะช่วยได้บ้างไม่ได้บ้าง และปีที่ผ่านมาหุ้นไอพีโอเข้ามาจดทะเบียนส่วนใหญ่ราคาต่ำจอง จึงทำให้บริษัทที่จะขายหุ้นไอพีโอเริ่มมองว่าการมีกรีนชูดีกว่าไม่มีหรือไม่ ดังนั้นให้บริษัทขนาดกลางๆลงมาเริ่มคิดที่ขายหุ้นไอพีโอแล้วมีกรีนชูด้วย ทำให้นักลงทุนมีความอุ่นใจระดับหนึ่ง"นายเล็กกล่าว
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้ในโลกออนไลน์เริ่มมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้กรีนชู คิดว่ากรีนชูมีไว้เพื่อดันราคาหุ้นหรือทุบหุ้น ซึ่งจริงๆแล้ว การมีกรีนชูก็เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น โดยตามกฏระเบียบของตลาดหลักทรัพย์แล้ว กรีนชูจะใช้ได้ต่อเมื่อราคาหุ้นต่ำกว่าราคาไอพีโอเท่านั้น และเมื่อเข้าไปซ้อแล้ว ไม่สามารถขายออกมาได้ต้องเก็บไว้เมื่อครบ 30 วันแล้ว จึงนำหุ้นดังกล่าวไปคืนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่ให้ยืมหุ้นมาทำกรีนชู