4 พรรคฝ่ายค้านปัดข้อเสนอ ‘มหาธีร์’ ตั้งรัฐบาลปรองดอง
การเมืองมาเลเซียยังวุ่นวายไม่เลิก ล่าสุด 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านของมาเลเซีย ปฏิเสธแนวคิดของ มหาธีร์ โมฮัมหมัด รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเสนอตัวเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลปรองดอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อยุติปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง
มหาธีร์ วัย 94 ปี ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ (24 ก.พ.) ทำให้รัฐบาลผสมกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน ที่มีปัญหาความขัดแย้งภายในอย่างหนักอยู่แล้ว และสูญเสียคะแนนนิยมลงไปเรื่อยๆ ระส่ำระสายหนัก ล่าสุด สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียทรงยอมรับการลาออกของมหาธีร์ แต่ทรงแต่งตั้งให้เขารักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปก่อน ทำให้มหาธีร์ยังคงกุมอำนาจบริหารเต็มที่จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
แหล่งข่าววงในบอกว่า มหาธีร์ เสนอแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลปรองดองระหว่างประชุมร่วมกับผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ๆ เมื่อวันอังคาร (25 ก.พ.) ซึ่งรวมถึงอันวาร์ อิบราฮิม และ 4 พรรคฝ่ายค้านที่พ่ายศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2561 แต่พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ประกาศจุดยืนร่วมกันว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลปรองดองอาจเปิดทางให้ มหาธีร์ กุมอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าสมัยที่เขาครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนานกว่า 2 ทศวรรษเมื่อช่วงปี 2524-2546 ซึ่งถือเป็นยุคทองที่มาเลเซียเปลี่ยนจากรัฐเกษตรกรรมสู่ความเป็นชาติอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ขณะที่มาเลเซีย เมล์ สื่อชั้นนำของมาเลเซีย รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลละฮ์ รีอายาตุดดิน อัล-มุสตาฟา บิลละฮ์ ชะฮ์ แห่งมาเลเซีย ทรงสัมภาษณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทีละคน เพื่อให้มีความชัดเจนว่าใครคือคนที่กุมเสียงส่วนใหญ่ในสภา ฯ และจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังจากมหาธีร์ ตัดสินใจลาออกท่ามกลางรายงานข่าวว่า เพื่อประท้วงที่พรรคเบอร์ซาตูของเขา ต้องการกลับไปจับมือกับฝ่ายค้านพรรคอัมโน เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่
"อาห์หมัด ฟาดิล" เลขาธิการสำนักราชวัง กล่าวว่า มี ส.ส. 90 คนได้รับเชิญไปที่พระราชวัง เพื่อสัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร เริ่มมาตั้งแต่ 14.30 น. กระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 43 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยส.ส.แต่ละคนจะเข้าเฝ้าคนละ 2-3 นาที และการสัมภาษณ์ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 19.00 น. ส่วนส.ส.ที่เหลือจะสัมภาษณ์ในวันถัดมา
เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดจึงต้องมีขั้นตอนสัมภาษณ์ ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนในมาเลเซีย เลขาฯสำนักราชวัง กล่าวว่า ทางสำนักราชวังต้องการหลักประกันความโปร่งใส ตามครรลองรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเพื่อไม่ให้สื่อคาดการณ์ไปต่างๆ นานา
การลาออกอย่างกะทันหันของมหาธีร์ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างเขาและอันวาร์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายถือเป็นศัตรูทางการเมืองกันมาโดยตลอดก่อนหน้าที่จะจับมือกันตั้งกลุ่มปากาตัน ฮาราปัน ท่ามกลางความประหลาดของคนทั้งประเทศ และการลาออกครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่ามีการหักหลังกัน ซึ่งเป็นเกมการเมืองที่ต้องการสกัดกั้นการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอันวาร์
แต่ยังคงไม่มีความชัดเจนว่า มหาธีร์จะดำรงตำแหน่งรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีไปนานเท่าใด และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยการเจรจากับพรรคเบอร์ซาตูของมหาธีร์กับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อกำจัดพรรคพีเคอาร์ของอันวาร์หรือไม่ หรือเป็นแค่การยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ในมาเลเซีย
อันวาร์เอง ยังโอดครวญกล่าวโทษพรรคเบอร์ซาตู ของมหาธีร์ และคนในพรรคพีเคอาร์ของตัวเองว่า หักหลังตน หลังจากมีข่าวสะพัดในวงการการเมืองมาเลเซียว่า คนกลุ่มนี้กำลังวางแผนจับมือกับพรรคฝ่ายตรงข้าม เพื่อสกัดไม่ให้เขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ก่อนเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2561 พรรคการเมืองของอันวาร์และมหาธีร์จับมือกันเป็นแนวร่วม จนเอาชนะแนวร่วมพรรครัฐบาล ที่ครองอำนาจมานานถึง 6 ทศวรรษลงสำเร็จ ท่ามกลางความไม่พอใจรัฐบาลเกี่ยวกับการทุจริตกองทุน 1MDB จากนั้น มหาธีร์ก็ให้คำมั่นกับอันวาร์ว่าจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากเขาอยู่ครบวาระ
ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวมาเลเซียจำนวนหนึ่งเริ่มติดแฮชแท็ก #Malaysia และระบายความไม่พอใจผ่านโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่า สาเหตุที่ไปเลือกตั้งให้กับพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น เพราะต้องการให้มีการปฏิรูปหลายๆ เรื่อง แต่ตอนนี้คนที่เลือกมากลับหักหลังด้วยการไปจับมือกับพรรคการเมืองที่แพ้เลือกตั้ง