ไทยเร่งเจรจา 'เอฟทีเอ' อังกฤษหลัง 'เบร็กซิท'
เจาะภารกิจ “ดอน ปรมัตถ์วินัย” เยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ พร้อมผลักดันการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-อังกฤษให้มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
รายงานกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า อังกฤษเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 21 ของไทย โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ตั้งแต่เดือนม.ค.-ต.ค. มีมูลค่าการค้ารวม 6.26 พันล้านดอลลาร์ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 1.42 พันล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่าการส่งออกไทยไปอังกฤษอยู่ที่ 3.82 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทชิ้นส่วนอุปกรณ์และรถยนต์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า
ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากอังกฤษ รวมมูลค่า 2.41 พันล้านดอลลาร์ มีสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น
การกระชับความสัมพันธ์กับอังกฤษภายหลังเบร็กซิทเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ ในระหว่างนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษานโยบาย และมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอังกฤษ
อีกด้านหนึ่ง ไทย ได้ติดตามท่าทีของอียูหลังอังกฤษแยกตัวออกมาอย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเจรจากับทั้งอียูเเละอังกฤษเรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับบิวทีโอ) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ อาทิ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น
การศึกษานี้ มีเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวม ทั้งอียูและอังกฤษจะต้องจัดสรรโควตาให้ไทยใหม่ ไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับก่อนหน้านี้ โดยต้องสะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับสมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศ และอังกฤษให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากอียู ทำให้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถืออังกฤษลงสู่เชิงลบ เพราะเป็นผลมาจากกระบวนการกำหนดนโยบายปัจจุบันของอังกฤษประสบภาวะชะงักงัน แต่หลายประเทศยังมุ่งที่จะสานความสัมพันธ์กับอังกฤษหลังเบร็กซิท ไม่เฉพาะประเทศไทย ประเทศเดียว
“อังกฤษกำลังหาพันธมิตรนอกอียู ซึ่งไทยเป็นมิตรประเทศของอังกฤษมานาน และมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยความเห็นอกเห็นใจ มากกว่าผลประโยชน์ ขณะที่อังกฤษพอใจในท่าทีและความร่วมมือระหว่างกัน” รัฐมนตรีต่างประเทศ ระบุ
ดอน กล่าวด้วยว่า การพบปะกันครั้งนี้่ ยังพูดคุยถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการศึกษา โดยขณะนี้มีนักเรียนไทยจำนวนมากที่นิยมศึกษาต่อในอังกฤษ ซึ่งตนพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษามากขึ้น เพราะน่าจะเป็นผลดีต่อเยาวชนไทย รวมไปถึงนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้าน และอาเซียนที่สามารถเดินทางมาเล่าเรียนในระบบการศึกษาแบบอังกฤษในไทยได้
ด้าน ราบบ์ กล่าวยืนยันว่าจะเดินหน้าความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทยอย่างแข็งขัน พร้อมขอให้ไทยสนับสนุนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ ในเดือนพ.ย.นี้ โดยอังกฤษและอิตาลี เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ขณะที่ดอน ตอบรับเรื่องนี้และจะนำเรื่องนี้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีต่อไป
การเยือนอังกฤษครั้งนี้ ดอน ยังได้พบกับ “เกรแฮม บราดี้” กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อังกฤษ เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติของอังกฤษและหารือเพื่อเพิ่มความร่วมมือระหว่างกันในระยะยาวหลังเบร็กซิทโดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งสนับสนุนนักธุรกิจอังกฤษให้เข้ามาแสวงหาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) ด้วย