เจาะกลยุทธ์ "พันทิป" ฝ่าวงล้อมยักษ์ แพลตฟอร์มออนไลน์โลก
บริบท “โลก” เปลี่ยนจากยุคเก่า อนาล็อก สู่ยุคใหม่เป็น “ดิจิทัล” และ “สื่อสังคมออนไลน์” หรือ Social Media หลากแพลตฟอร์มแจ้งเกิด แผ่ขยายอาณาจักรธุรกิจกรุยทางทั่วโลก
ไทยเป็นอีกประเทศที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียติดอันดับต้นๆของโลก เช่น เฟสบุ๊ค มีคนเข้าใช้งาน 57 ล้านคนต่อเดือน 41 ล้านคนต่อวัน และ 56 ล้านคนเข้าใช้เฟสบุ๊คผ่านมือถือ ไลน์ผู้ใช้งานกว่า 50 ล้าน เป็นต้น
พันทิป หนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติไทย คร่ำหวอดในวงการมานานถึง 23 ปี การจะฝ่าวงล้อม แพลตฟอร์มระดับโลก เพื่อยืนหยัดเป็นแหล่งข้อมูล ความรู้ “ไขข้อสงสัย” ให้ผู้บริโภคชาวไทย มีกลยุทธ์ธุรกิจอย่างไร อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ พันทิป ดอท คอม( (Pantip.com) ให้มุมมอง
ย้อนอดีตต้นตำรับ “ดราม่า” ที่ “ขาเผือก” หรือผู้บริโภคที่อยากรู้อยากเห็นเชิงลึก มี Passion ในเรื่องคนอื่น ต้องยกให้ “พันทิป” เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี และมี “นักสืบพันทิป” ที่รู้ลึก รู้จริงให้ข้อมูลตอบคำถาม ไขข้อสงสัยให้กับผู้บริโภค สมาชิกขาประจำและขาจนที่ตั้งกระทู้คำถาม แต่ปัจจุบัน “ดราม่า” ถูกโยกไปก่อตัวบนแพลตฟอร์ม “ทวิตเตอร์” เรียบร้อยแล้ว เพราะเอกลักษณ์เด่นคือ Real time
นอกจากนี้ อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ดังๆ แจ้งเกิดจากพันทิปมีมากมาย ก่อนที่จะกลายเป็นเทรนด์การตลาดยอดนิยม แบรนด์ชอบดึงไปเป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
ความดังของพันทิป เคยมีผู้บริโภคเข้าไปสนทนา ตั้ง ตอบกระทู้ ดันยอดเพจวิวให้ทะลุ 16-17 ล้านเพจวิวต่อวัน แม้ภาพดังกล่าว จะเลือนลางลงบ้าง แต่ภารกิจสื่อสังคมออนไลน์สัญชาติไทยต้อง “ยืนหนึ่ง” ยังดำรงอยู่
“จะฝ่าวงล้อมแพลตฟอร์มอื่นๆ หลักๆเราต้อง Positioning แพลตฟอร์มตัวเองให้แตกต่าง มีเอกลักษณ์” เขาย้ำและขยายความว่า สิ่งที่พันทิปจะเดินไปข้างหน้า คือการเป็นแหล่งให้ข้อมูล ความรู้ โดยเฉพาะการ “ตอบทุกคำถาม” ให้กับผู้บริโภคจากผู้เชี่ยวชาญ กูรู เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นได้ความรู้ประเทืองปัญญากลับไป
ขณะที่บางแพลตฟอร์มแม้ผู้บริโภคต้องการข้อมูล ความรู้ คำตอบในบางเรื่อง แต่อาจไม่ลึก ไม่โดนใจ การเข้า “พันทิป” ตั้งกระทู้ถาม อ่านรีวิว ทำให้เจอทางออก ส่วนหนึ่งเพราะ “ห้อง” ซึ่งเป็นไฮไลท์ หัวใจของพันทิป ถูกแบ่งแยกมากถึง 38 ห้อง เช่น บลูแพลนเน็ต(ท่องเที่ยว การเดินทางฯ), บางขุนพรม(ทีวี บันเทิงฯ), ศุภชลาศัย(กีฬา ฟุตบอลฯ) และสินทร(หุ้น การเงิน การลงทุนฯ) และมีแท็กมากถึง 20,000 แท็ก เพื่อสนองผู้สนใจเรื่องต่างๆแบบเฉพาะเจาะจง
ทั้งนี้ ฐานผู้ใช้งานพันทิปมีประมาณ 4 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกที่สมัครและยืนยันโดย E-mail ตามด้วยยืนยันด้วยบัตรประชาชน และใช้ซิมการ์ดโทรศัพท์ นอกจากนี้ กลุ่มอายุ 25-34 ปี เป็นผู้เสพคอนเทนท์กลุ่มใหญ่ รองลงมาอายุ 35-44 ปี และ 18-24 ปี
สำหรับห้องที่มีคนเข้าเสพคอนเทนท์มากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บลูแพลนเน็ต ส่วนโต๊ะเครื่องแป้ง(เครื่องสำอาง เสริมสวยฯ) และสวนลุมพินี(สุขภาพกาย-จิตฯ) สลับกันขึ้นกับแต่ละช่วงเวลา
เพื่อผลักดันให้พันทิปยืนหยัดอย่างแข็งแรง โมเดลธุรกิจ ยังต้องตอบโจทย์ “ลูกค้า” แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆด้วย ซึ่งเดือนหน้าจะเห็น “ฟีเจอร์ใหม่” ต่อยอดฐานข้อมูล(Data)เกี่ยวกับผู้บริโภคที่“เก็บกระทู้โปรด” ให้ลูกค้าสามารถสื่อสารการตลาดได้ และกลางปีนี้จะเห็น “กระทู้เรียลไทม์” ไม่ให้ผู้บริโภคตกเทรนด์ จากปัจจุบันมี “พันทิปเทรนด์” นำดาต้าประมวลผลเรื่องยอดนิยม 24 ชั่วโมง(ชม.) มาติดเทรนด์แต่ละห้อง แต่บางประเด็นอาจข้ามคืนไปแล้วถือเป็น Pain point ของเว็บ
ในการหารายได้ ปัจจุบันโฆษณา ดิสเพลย์มีสัดส่วนต่ำกว่า 80% ตามด้วยคอนเทน์มาร์เก็ตติ้ง และทำกิจกรรมร่วมกับแบรนด์ จากนี้ไปจะเห็นการปรับดิสเพลย์ และโฆษณาให้เจาะกลุ่มเป้าหมายแม่นยำมากขึ้น และทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อด้วย ส่วนการทำคอนเทนท์มาร์เก็ตติ้ง จากเคยแจกสินค้า ปีนี้จะเห็นเกมตอบคำถาม(Quiz game) เพื่อเก็บฐานข้อมูลผู้บริโภคต่อยอดการทำตลาด
“จะพัฒนาให้โฆษณา การทำตลาดกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเลย เช่น คนที่เข้ามาดูรีวิวโฟมล้างหน้า มีคอนเทนท์ โฆษณาสินค้าขึ้น แล้วลูกค้าต้องไปซื้อเลย”
การที่สื่อสังคมออนไลน์คนไทย(โลคัล) ขับเคี่ยวแพลตฟอร์มโลกเผชิญความยากทั้ง “ทีมงาน-เงินทุน” เพราะพันทิปมี 80 กว่าคน เผชิญความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง แต่ก็พร้อมเป็นชุมชน แหล่งความรู้ให้คนไทยเสพ
“ด้านยูสเซอร์ เราต้องเน้นความรู้ตอบโจทย์ ในเชิงธุรกิจ เราต้องปรับรูปแบบหารายได้ จากขายโฆษณา ดิสเพลย์ ไปทำคอนเทนท์มาร์เก็ตติ้ง ทำกิจกรรมร่วมกับแบรนด์มากขึ้น”