ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 'นิวโลว์' พิษเศรษฐกิจซบเซา
"สภาธุรกิจตลาดทุนไทย" เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลง 11.48 % อยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" เดือนที่สองติดต่อกัน และทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เหตุกังวลเศรษฐกิจไทยชะลอตัว โควิด-19 ระบาด หวังมาตรการรัฐช่วยฟื้นเศรษฐกิจ
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนมี.ค.2563ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พ.ค.) อยู่ที่ 64.40 ลดลง 11.48 % อยู่ในเกณฑ์ซบเซาเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน และปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ฉุดความเชื่อมั่น ส่วนปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือการคาดหวังนโยบายภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนที่มากพอ และต้องทำโดยรวดเร็ว ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับรัฐบาลทุกประเทศ เพราะที่ผ่านมาใช้นโยบายทางการเงินในการลดดอกเบี้ยไปแล้วพอสมควร จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภาคเอกเชน ระหว่างรอให้ความกลัวโควิด-19หายไป
สำหรับมาตรการสนับสนุนตลาดทุนนั้น เฟทโก้ได้เสนอขอวงเงินพิเศษลดหย่อนภาษีเพิ่มของกองทุนรวมเพื่อการออม(SSF)อีก 2 แสนล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้นภายในไตรมาส2ปีนี้ ซึ่งหากเม็ดเงินดังกล่าวไม่สามารถช่วยลดความผันผวน หรือมีผู้ใช้สิทธิน้อย ก็จะมีการเสนอมาตรการเพิ่มเติม เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนตรงในตลาดหุ้น แต่ต้องถือลงทุนระยะยาว เป็นต้น
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนมี.ค. 2563 ปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่เริ่มจัดทำดัชนี อยู่ที่ระดับ 8 มาอยู่ในเกณฑ์ลดลง สะท้อนตลาดคาดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) ในเดือนนี้ อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่ลดลง และเม็ดเงินต่างชาติไหลออก โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 6 มี.ค.ต่างชาติขายตราสารหนี้ไทยสุทธิ30,072ล้านบาท