กทม. เล็งช่วยคาราโอเกะ-ซาวน่า-สนามฟุตซอล-แบดมินตัน

กทม. เล็งช่วยคาราโอเกะ-ซาวน่า-สนามฟุตซอล-แบดมินตัน

"เทวัญ" ขอโทษปชช.หลังมาตรการเข้มโควิด-19 "หมอรุ่งเรือง" รับสัญญาณป่วยเพิ่มพรวด "กทม." สั่งปิดอื้อ "อาบอบนวด-ร้านเกะ-ร้านเด็กดริ้ง-ซาวน่า-สนามฟุตซอล-แบดฯ" ช่วยแผงค้า-ขยายเวลาไถ่ถอน-ลดดอก ยัน ไม่ปิดเมือง

ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด –19 ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มาตรการขณะนี้ไม่ใช่การปิดเมืองหรือปิดประเทศ แต่เป็นมาตรการสกัดกั้นการนำเข้าเชื้อเข้าประเทศให้ยากขึ้น ชะลอการระบาดในประเทศให้เข้มข้นขึ้น มีการคัดกรองมาตรการบุคคลที่จะกลับเข้าประเทศไทยหรือต่างชาติที่เข้าประเทศไทย มีมาตรการที่เข้มข้น เรามีการระมัดระวังป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากภายนอกให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม การที่มีมาตรการต่างๆ เข้ามาย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนแน่นอน ตรงนี้อยากขอโทษประชาชนอย่างมากที่ความสะดวกความสบายที่เคยได้รับอาจได้รับน้อยลง แต่เป็นระยะหนึ่งเท่านั้น จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนการเดินทางต่างๆ ยังใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้เราอยู่ระยะสองก็จริง แต่พบสัญญาณบางอย่างที่มีความเสี่ยงที่จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลให้ความสำคัญจึงมีมาตรการ 6 ด้านออกมา 

 

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเภทของสถานที่ที่ปิดชั่วคราวใน กทม.จะมี 8 ประเภท ได้แก่ 1.สถานประกอบกิจการอาบอบนวด 2.สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร ซาวน่า 3.โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร 4.ฟิตเนส 5.สถานประกอบกิจการคล้ายสถานบริการ 6.สนามมวย 7.สนามกีฬา และ8.สนามม้า สำหรับประเภทที่ 5 นั้น สถานบริการ ในส่วนของ กทม.ที่ขึ้นทะเบียนไว้ มี 1,712 แห่งใน 50 เขต

 

โดยสถานบริการที่ต้องปิดและหลายคนยังสงสัยว่ารูปแบบเป็นอย่างไรนั้น หมายถึงที่มีการจำหน่ายอาหาร สุรา มีการแสดงดนตรี เต้นรำ การแสดงโชว์ คาราโอเกะ หรือที่เรียกว่า นั่งดริ้ง สถานที่เหล่านี้ปิด แต่ร้านอาหารทั่วๆ ไปไม่ได้ปิด ยังขายได้ตามปกติ ส่วนสนามกีฬานั้น หากเป็นที่โล่งแจ้ง คนวิ่งออกกำลังกายไม่เบียดเสียดกันยังดำเนินการได้ แต่หากเป็นสนามกีฬาที่ปิด ซึ่งมีโอกาสที่ผู้ออกกำลังกายจะใกล้ชิดและสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น สนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน โรงยิม จะปิดชั่วคราว 14 วัน และระหว่างที่ปิดจะมีเจ้าหน้าที่เขตไปตรวจสอบ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้มีการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคให้ถูกสุขอนามัย ส่วนร้านอาหารในถนนข้าวสาร มีการจัดโต๊ะในระยะห่างกัน ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะต้องปิด ทั้งนี้ หากสถานการณ์เบาบางลงจึงจะอนุญาติเปิดได้ตามปกติ แต่ถ้าการระบาดยังแพร่อยู่จะขยายเวลาสั่งปิดเพิ่ม

 

 

             

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดชั่วคราวคือ แรงงานเกิดความเดือดร้อน ทาง กทม.ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน คือ แผงค้ากว่า 2.9 หมื่นแผงใน 12 ตลาดของ กทม. จะลดค่าเช่าแผงให้ผู้ประกอบการ 25% เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-ก.ค. นอกจากนี้ ในส่วนของสถานธนานุบาล 21 แห่ง จะยืดเวลาหลุดจำนำเดิม 4 เดือน 30 วัน ออกไปเป็น 8 เดือน พร้อมกับลดดอกเบี้ย เชื่อว่ามาตรการนี้จะบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานและผู้มีรายได้น้อย และจะพยายามหามาตรการเพิ่มขึ้นต่อๆ ไป
 
     

ผู้สื่อข่าวถามว่า กทม.มีโอกาสจะปิดเมือง หรือมีแนวความคิดที่จะปิดหรือไม่ พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า เราไม่มีความคิดที่จะปิด กทม. หรือปิดเมืองเลย ทาง กทม.มีแนวคิดแค่จะเพิ่มความเข้มงวดไม่ให้มีการแพร่ระบาด และเข้มงวดการรักษาความสะอาด ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจจะป้องกันตัวเอง ไม่เอาโรคไปติดคนอื่น ยืนยันไม่มีความคิดจะปิด กทม.แต่อย่างใด และไม่มีความคิดจะไม่ให้คนข้างนอกเข้ามา แต่ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ

 

 

นายจักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรณีที่มีปัญหาเรื่องความแออัดของแรงงานต่างด้าวที่เดินทางไปต่อใบอนุญาตที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จำนวน 4 แห่งใน กทม.นั้น เราได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขออนุญาตการทำงาน สำหรับกรณีที่มีการนัดหมายวันแล้ว ไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์ฯ แต่ให้นายจ้างนำลูกจ้างไปตรวจลงตราที่ศูนย์บริการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลลาดพร้าว ศูนย์การค้าบิ๊กซีสะพานใหม่ ศูนย์การค้าบิ๊กซีราษฎร์บูรณะ ส่วนออกบัตรประจำตัวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ให้ติดต่อสำนักงานเขต กทม. 50 เขต ส่วนใบอนุญาตทำงานให้ไปติดต่อสำนักงานจัดหางาน 10 แห่งทั่ว กทม.

 

              

ขณะที่ขั้นตอนการยื่นบัญชีรายชื่อ กลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อนั้น ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อทางออนไลน์ หรือมายื่นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 4 แห่ง ไม่ต้องพาลูกจ้างมา ตั้งแต่วันที่ 19 – 31 มี.ค. แต่กลุ่มที่ยื่นบัญชีรายชื่อแล้ว ไม่ต้องห่วง เพราะใบอนุญาตทำงานและวีซ่าทำงานซึ่งจะหมดในวันที่ 31 มี.ค. จะมีการผ่อนผันให้สามารถมาขอใบอนุญาตทำงานและวีซ่าได้ถึง 30 มิ.ย. ส่วนในต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสม

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันที่ 18 มี.ค. กองสถานที่ ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเครื่องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามป้อมมาฉีดพ่นตามป้อมตำรวจประจำประตูต่างๆ ภายในทำเนียบฯ