‘เอสบีไอ’หวัง‘เบอร์หนึ่ง’ ธุรกิจ'ออนไลน์โบรกเกอร์'
ธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงมากขึ้นในระยะหลัง หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น "ธุรกิจหลักทรัพย์" หรือ "โบรกเกอร์" ที่ผ่านมาแนวโน้มผลประกอบการของโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ก็อยู่ในทิศทางขาลงแทบทั้งสิ้น
แต่ในภาวะที่ตลาดหุ้นกำลังปั่นป่วนเช่นนี้ ดูเหมือนธุรกิจโบรกเกอร์จะดูดีขึ้นมามากกว่าสถานการณ์ปกติ
ล่าสุด "กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารของหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์ ที่เน้นให้บริการด้านออนไลน์ 100% อย่างบริษัทหลักทรัพย์ เอสบีไอ ไทย ออนไลน์ หรือ SBITO โดย คาซึนาริ โอกาวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ SBITO เปิดเผยว่า แม้ความกังวลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลงรุนแรง แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับภาวะเช่นนี้ คือ ความผันผวนที่สูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน
ความผันผวนที่สูงขึ้น ย่อมมาพร้อมกับปริมาณและมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยจากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ณ วันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยของหุ้นทั้งหมดในกลุ่ม SET ตั้งแต่ต้นปี 2563 อยู่ที่ 66,948.76 ล้านบาท ขณะที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 17,195.25 ล้านหุ้น เพิ่มสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยเมื่อปี 2562 ทั้งปี ซึ่งมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 52,467.58 ล้านบาท และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 16,202.25 ล้านหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 27% และ 6% ตามลำดับ
“ในขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกอย่างรุนแรงและรวดเร็ว นั่นหมายความว่าทุกคนสามารถเข้ามาซื้อหุ้นที่ราคาต่ำลงมากจากในอดีต ถือเป็นโอกาสที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนมาก่อน ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่บริษัทโฟกัสจะขยายเพิ่มเติมต่อจากนี้”
ถัดจากนี้ SBITO จะยังคงรูปแบบธุรกิจของการเป็นออนไลน์โบรกเกอร์ 100% เช่นเดิม โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 1.5% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งตลาดในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งในปีนี้ (ถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2564) บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 3% ของมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ทั้งตลาด ซึ่งจะเป็นผลจากการขยายฐานลูกค้าจาก 20,000 บัญชี เป็น 60,000 บัญชี ในปีนี้
จากเป้าหมายดังกล่าว คาซึนาริ โอกาวะ หัวเรือใหญ่ของ SBITO กล่าวว่า การจะบรรลุสิ่งที่ตั้งไว้นั้น บริษัทจะดำเนินธุรกิจตามแนวทาง 4 ข้อหลัก
ข้อแรก การเสนอค่าคอมมิชชั่นและอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ดีที่สุดของอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันค่าคอมมิชชั่นสำหรับบัญชี cash balance ของบริษัท อยู่ที่ 0.075% โดยที่ไม่ได้มีการกำหนดขั้นต่ำแต่อย่างใด
“โดยส่วนตัวมองว่าการลดค่าคอมมิชชั่นลงมาต่ำกว่าในอดีต ไม่ใช่การทำสงครามราคาแต่อย่างใด แต่เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเหมาะสมกับบริการที่เขาได้รับ โดยส่วนตัวเชื่อว่าค่าคอมมิชชั่นของธุรกิจโบรกเกอร์จะค่อยๆ ปรับลดลงอีกในอนาคต ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคอมมิชชั่นต่ำเพียง 0.03%”
ข้อสอง มุ่งเน้นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนที่มีคุณภาพ โดยที่ผ่านมา SBITO ไม่ได้มีทีมนักวิเคราะห์ของตนเอง แต่จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำการวิเคราะห์ข้อมูลให้กับลูกค้า แต่เมื่อฐานลูกค้าของบริษัทขยายใหญ่ขึ้น บริษัทก็มีแผนที่จะเริ่มสร้างทีมนักวิเคราะห์ขึ้นมารองรับในจุดนี้เช่นกัน
ข้อสาม การให้บริการเครื่องมือช่วยเหลือทางด้านการลงทุนซึ่งช่วยให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างล่าสุดคือการปล่อยเครื่องมือ SBI TRADE AI เป็นระบบในการช่วยคัดกรองหุ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านต่างๆ
และข้อสุดท้าย คือ การเปิดโอกาสทางการลงทุนให้กว้างขึ้นสำหรับลูกค้า อย่างการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อขายหุ้นซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ ได้ด้วยตนเอง ในลักษณะที่เกือบจะเรียลไทม์ และในอนาคตบริษัทก็มีแผนที่จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเทรดในกระดานต่างประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ ญี่ปุ่น
“การลดค่าคอมมิชชั่นลงมา ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะไม่สามารถนำเสนอบริการที่ดีให้กับลูกค้าได้ ในมุมกลับกันจะเห็นว่า SBITO ยังคงสามารถออกบริการใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าออนไลน์ของเรา โดยการลดต้นทุนในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น พนักงานในส่วนของการจัดการด้านเอกสาร หรือเปิดบัญชีซื้อ โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาจัดการแทนเกือบ 100% ขณะเดียวกันต้นทุนที่ลดลงไปก็นำมาเพิ่มให้กับลูกค้าในด้านที่จำเป็น”
ด้วย 4 แนวทางการดำเนินธุรกิจนี้ เป็นลักษณะเดียวกันกับ SBI Japan ซึ่งช่วยให้ SBI Japan สามารถก้าวขึ้นไปเป็นออนไลน์โบรกเกอร์ อันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ด้วยฐานลูกค้ากว่า 5 ล้านคน และครองสัดส่วนกว่า 40% ของมูลค่าซื้อขาย
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันฐานลูกค้าที่ซื้อขายออนไลน์มีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านคน และเชื่อว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้กับออนไลน์โบรกเกอร์ในอนาคต