“เชนจ์” ชูแผนลุยคอนเทนท์ วัคซีนป้องกันปัจจัยเสี่ยง!!
ยามวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาดหนัก และผู้คนต้อง "กักตัวอยู่บ้าน" อาจทำให้คนหันมา "ดูทีวี" แต่ในโชคดีของธุรกิจ ยังมีโชคร้ายมาซ้ำ เมื่อแบรนด์ "หั่นงบ" โฆษณา สื่อสารตลาด ปี 63 ทุกธุรกิจจึงต้องหา "วัคซีน" ทำตัวเองให้แข็งแรง รับปัจจัยลบที่ดาหน้าเข้ามา
เปิดศักราชมา ธุรกิจดาหน้ารับปัจจัย “ลบ” ครั้นจะคาดการณ์ถึงอนาคตแค่ “พรุ่งนี้” ยังเป็นเรื่องยาก แต่ที่สาหัสยามนี้ หนีไม่พ้นผลกระทบโรค “โควิด-19” ที่ลามโลกและไทย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตประชาชน เศรษฐกิจ ธุรกิจ ให้ชะงักงัน
ทว่า ในช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์ ภาครัฐขอร้องให้ประชาชน “กักตัว” และ “อยู่บ้าน” รวมถึง ทำงานที่บ้านหรือ Work from Home เชื่อว่าหลายคนต้องหันมา “เปิดทีวี” ดูรายการ(คอนเทนท์)ต่างๆ ควบคู่การทำงาน และเสพสื่อผ่านออนไลน์ ทำให้ “โอกาส” ของคนผลิตรายการกลับมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ “รายการบันเทิง” ยังเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงใจในยามบ้านเมืองมีแต่ข่าวร้ายรายวันจากโรคโควิด-19
“เศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริโภคต้องการความบันเทิง แต่จ่ายเงินเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ในยามที่กำลังลำบากมาก การดูฟรีทีวี อาจดีกว่าการจ่ายเงินเพื่อดูคอนเทนท์ ทุกอย่างแปรผันตามสถานการณ์” มุมมองของ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานบริษัท เชนจ์ 2561 จำกัด
เธอขยายความด้วยว่า ในภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดเช่นนี้ ลูกค้ายังตัดงบ “โฆษณา” การสื่อสารการตลาดเป็นลำดับแรกด้วย เพราะง่ายสุด แล้วปรับใช้เงินตามสถานการณ์เพื่อผ่านวิกฤติ
จากผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัล ผันมาสู่บทบาทผู้ผลิตรายการหรือคอนเทนท์โปรวายเดอร์เต็มตัว ไม่ว่าเศรษฐกิจขึ้นหรือลง แต่การมี “สื่อ” หลากแพลตฟอร์มทั้งทีวี ออนไลน์ หรือOver the top:OTT เจ้าต่างๆตบเท้าเข้ามาเปิดตลาดในไทย ทำให้ความต้องการ “คอนเทนท์” ยังมีมากขึ้น เป็นโอกาสของ “เชนจ์” ไม่น้อย
ปีนี้การรับจ้างผลิตละครป้อนช่องต่างๆทั้งอมรินทร์ทีวี34, จีเอ็มเอ็ม25, วัน31 และพีพีทีวี 36 ฯ มีรวมถึง 16 เรื่อง มากกว่าปีก่อนที่ผลิต 9 เรื่อง ทว่า โจทย์ที่ได้รับนับเป็นความท้าทายของผู้ผลิตอย่างมาก เพราะแต่ละช่องมีกลุ่มเป้าหมายต่างกันทำให้ “ความต้องการ” หลากหลาย บ้างไม่ต้องการบทประพันธ์ที่ทำเป็นละครมาแล้วหลายครั้ง ต้องการ “บทละคร” ใหม่แกะกล่อง บ้างไม่ต้องการทำละครเสิร์ฟวัยทีน เป็นต้น
ขณะที่ “จริตผู้ชม” เป็นเรื่องยากจะคาดเดามาก ละครบางเรื่องออนแอร์ได้กระแสและปังมาก บางเรื่องไม่ถูกใจคนดู แต่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ “สายทิพย์” ย้ำว่าต้องผลิตเนื้อหาให้ดีสุดเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน
“พฤติกรรมคนดูเปลี่ยน มีความเป็นตัวเอง ใจร้อนมากขึ้น ดูเพียงตอนแรก ต้องการรู้ตอนจบแล้ว ละครที่บทนางเอกแสนดีในอดีตคนดูเห็นใจสงสาร ตอนนี้อาจบอกว่านางเอกโง่ วันนี้เหมือนคนดูมองในมุมตัวเอง เอาใจตัวเองค่อนข้างสูง แต่ที่สุดแล้ว การผลิตคอนเทนท์ของเชนจ์ จะอยู่บนความตั้งใจให้ทุกอย่างสอดคล้องกับแบรนด์ของเราคือ การเปลี่ยนวิธีคิดอะไรบางอย่างในสังคมตามเจตนารมย์ของเรา”
กี่ยุคกี่สมัยการทำคอนเทนท์เสิร์ฟจอต่างๆ(Screen) คอนเทนท์ถูกยกเป็น “King” เสมอ ทำให้ตลอด 3 ปี เชนจ์ มีการเติบโตก้าวกระโดดอย่างมาก จากมีพนักงาน 5-6 ชีวิต ปัจจุบัน 60-70 ชีวิต รองรับการทำงาน ขณะความสำเร็จจากการผลิตละคร ไม่ว่าจะเป็น ก้านแก้ว เมียน้อย ใบไม้ที่ปลิดปลิว สามีสีทองฯ ยังทำให้ “ลายเซ็นต์” ของเชนจ์ชัดเจนขึ้น
ปี 2563 บริษัทไม่ได้รับจ้างผลิตละครป้อนทีวีเท่านั้น แต่ยังเสิร์ฟแพลตฟอร์ม OTT ทั้งไลน์ทีวี วิว วีทีวีฯ ในรูปแบบ “ออริจินัลคอนเทนท์” เป็นครั้งแรก ซึ่งจะทยอยออกอากาศช่วงปลายปี
ส่วนรายการทีวี ยังมี ต้มยำอมรินทร์ เสิร์ฟคนดู ด้านกิจกรรมออนกราวด์ พี่อ้อยพี่ฉอดออนทัวร์ ซึ่งต่อยอดจากคลับฟรายเดย์ ปีนี้วางไว้ 2 ซีซั่น รวม 20 โรงเรียน ซึ่งต้องจับตาการระบาดของโรคจะกระทบกิจกรรมหรือไม่
แม้ละครคือพระเอกทำเงินมากสุด รองลงมาคือ “โชว์บิส” แต่ปี 2563 ยอมรับว่าโรคโควิด-19 ทำให้ยังคาดการณ์การจัดโชว์บิสยากมาก โดยรอดูสถานการณ์ต่างๆ เพราะตอนนี้หลายงาน “เลื่อน” ออกไปไม่มีกำหนด ทั้งนี้ ข้อดีคือบริษัทมีงานในแผน 3 เท่านั้น จากปีก่อนมี 4 งาน
“เราเห็นสัญญาณบางอย่างตั้งแต่ปลายปีที่อล้ว ทำให้ยั้งๆการจัดโชว์บิส ส่วนปีนี้ยังไม่มีการแถลงว่าจะจัดงานเมื่อไหร่ ต้องค่อยๆดูสถานการณ์ แล้วแถลงประกาศโชว์แต่ละเคสไป โชว์บิสยังไม่เลิก แต่ยังไม่ประกาศ”
อย่างไรก็ตาม จากแผนธุรกิจดังกล่าว บริษัทยังตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตหลัก 100% แม้ว่าการรักษาโมเมนตัมเติบโตจะยาก เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเจอปัจจัยลบอะไรเพิ่มเติม สาหัสเพียงใด และธุรกิจบริษัทจะรอดไม่ได้ หากลูกค้าไม่รอด การรอดวิกฤติพร้อมๆกันสำคัญมาก
“ปีนี้ท้าทายรอบด้าน แต่เราต้องหาวิธีตั้งรับ ทำตัวเองให้แข็งแรงที่สุด หากเจอโรคภัยอะไรมา จะได้ค่อยๆแก้ปัญหาไป”