จับสัญญาณ‘หุ้นไทย’ไตรมาส2 ลุ้นดัชนีพุ่งแตะ 1,264 จุด
ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ต้องเผชิญหลายปัจจัยลบที่ถาโถมเข้ามารอบด้าน ปัจจัยกดดันหลักๆ มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่สร้างความหวั่นวิตกให้นักลงทุนเป็นอย่างมาก
สะท้อนจากดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงรุนแรงเกือบ 30% ทำระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปี 9 เดือน
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นอย่าง “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาแรงจากความกังวลเรื่องโควิด-19 ที่กระทบเศรษฐกิจมาก แต่หากวิเคราะห์แวลูชั่นของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบัน โดยดูจาก Market Earning Yield Gap ปัจจุบันที่ 5.90% ถือว่ากว้างมาก สะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยมีดาวไซด์ที่จำกัดและมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วหากสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายลง โดยประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ไว้ที่ระดับ 1,264 จุด ภายใต้ค่าพีอีระดับ 17.4 เท่า และมองแนวรับ 970 จุด ที่ค่าพีอีระดับ 13 เท่า
ทั้งนี้ มองว่า ประเด็นหลักที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงดังกล่าวมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีโลกและจีดีพีของไทย และ2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและของธนาคารกลางทั่วโลก โดยในส่วนของประเด็นแรกคือเรื่องการปรับลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีนั้น เชื่อว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลกและได้ส่งผลให้หลายประเทศมีการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ การส่งออกและการท่องเที่ยวอาจต้องหยุดชะงัก และส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะที่ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย จะทำให้ภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกต้องออกมาตรการมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดเม็ดเงิน,การปรับลดดอกเบี้ย หรือการออกมาตรการอื่นๆเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบออกมาเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 จะเริ่มเห็นมาตรการต่างๆออกมามากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยหนุนตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 2
ส่วนทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาตินั้น มองว่าช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมายังคงไหลออกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาครวมกว่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และในตลาดหุ้นไทยมีเงินต่างชาติไหลออกแล้วกว่า 1.15 แสนล้านบาท จึงคาดว่าจากความวิตกกังวลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอจากโควิด-19 บวกกับค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังได้อ่อนค่าลงแล้วราว 8% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จะทําให้ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ในช่วงเดือน เม.ย.2563 น่าจะยังมีโอกาสชะลอการไหลเข้ามาอยู่
ล่าสุดบริษัทได้ปรับลดกำไรบริษัทจดทะเบียนมาอยู่ที่ระดับ 7.81 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดไว้ช่วงต้นปีที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท เป็นผลมาจากการปรับลดกำไรลงใน 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ พลังงานและปิโตรฯ, กลุ่มธนาคารพาณิชย์, กลุ่มขนส่งทางอากาศและโรงแรม และกลุ่มสื่อสาร และส่งผลให้ปรับอัตรากำไรต่อหุ้น (EPS) ปีนี้ลงเหลืออยู่ที่ 72.62 บาทต่อหุ้น จากเดิม 95.71 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 17.8% จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2 นี้ แนะนำให้สะสมหุ้นที่ปรับฐานลงมาแรงจากประเด็น โควิด-19 พร้อมกับมีโอกาสฟื้นตัวได้แรงกว่าตลาด หรือมีค่า Beta Plus สูง อย่าง บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ. บี.กริม เพาเวอร์(BGRIM), บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM),บมจ. ซีฟโก้ (SEAFCO), บมจ. ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) รวมถึงหุ้นบมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ส่วนหุ้นที่แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุน คือ หุ้นบมจ. การบินไทย (THAI) และบมจ. ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO)