หวั่น 'บจ.' พยุงหุ้นเกินจำเป็น จุดเสี่ยงสะดุดสภาพคล่อง
วิกฤติรอบใหญ่ครั้งนี้ทำให้มุมมองด้านการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมากมายภายหลัง สถานการณ์คลี่คลายลง เนื่องจากสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากโรคระบาด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากในอดีตวิกฤติที่เกิดขึ้นล้วนแต่มาจากระบบการเงินหรือไม่ก็ความขัดแย้งของมนุษย์ด้วยกันเอง
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดวิกฤติรอบนี้ขึ้นมาจึงไม่มีใครทำนายหรือออกมาพูดได้ชัดเจนว่าจะจบเมื่อไร และเศรษฐกิจจะฟื้นตอนไหน เพราะกุญแจสำคัญอยู่ที่การคิดค้นหาวัคซีนรักษาที่ทรงประสิทธิภาพเพียงพอหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้
หากมองในอดีตการจะหาแหล่งหลบภัยสำหรับเงินทุนมักจะมีการพูดถึงหุ้นที่เป็นทางเลือก จึงทำให้หุ้นที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yeild) สูงน่าสนใจ ซึ่งพอทดแทนการลงทุนประเภทอื่นได้
ยิ่งตลาดหุ้นยังร่วงไม่หยุดทำให้ราคาหุ้นรายตัวปรับลดลงหนักทั่วหน้า ส่งผลทำให้อัตราการจ่ายเงินปันผล ปรับตัวสูงขึ้นไปโดยปริยาย รวมทั้งหุ้นในเคยยืนหนึ่งแถวหน้าในกลุ่มหุ้นปันผลสูงในรอบนี้คงต้องเห็นตำแหน่งเปลี่ยนแปลง
อย่างกลุ่มธนาคาร จนกดดันทำให้อัตราราคาหุ้นต่อกำไร หรือ P/E ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้นายแบงก์ใจดีควักเงินจากกำไรแจกรูปเงินปันผลกันกระหน่ำ หรือบางบริษัทนอกจากจะปันผลสูงแล้วยังมีการประกาศเข้ามาซื้อหุ้นคืนอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน
จนทำให้ ปี 2563 มีบริษัทจดทะเบียนใช้เงินที่มีอยู่เข้ามาซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock ) รวมจำนวน 28 บริษัท เม็ดเงินร่วมเกือบ 8 หมื่นล้านบาท
หากแต่ในสถานกาณณ์วันนี้อาจะต้องมองในมิติอื่นเพราะปัจจัยความเสี่ยงไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา "สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ให้น้ำหนักกับการบริหารสภาพคล่องที่เป็นยาสามัญใช้ประคองธุรกิจยามฉุกเฉิน
กลุ่มบริษัทส่วนใหญ่ควรจะสำรองเงินสดและเสริมความแข็งแกร่งด้านงบดุลของตนเพื่อเตรียมรับมือกับการทดสอบความสามารถในการชำระหนี้ (solvency test) ในกรณีที่ สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้
โดยเปรียบเทียบกับบริษัทในสหรัฐจะพบว่ามีบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น Delta Airlines, Boeing, Darden, JPMorgan Chase และ McDonald’s ที่งดหรือแบ่งจ่ายเงินปันผล รวมถึงพับเก็บแผนการซื้อหุ้นคืนเพื่อสารองเงินสดในสภาวะที่รายได้หดตัวลง
จากประเด็นดังกล่าวมีการนำข้อมูลมาทดสอบเฉพาะความสามารถในการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนที่จ่ายปันผลสูงสุด 20 อันดับแรกในปี 2562 พบว่า กรณีเลวร้ายมากที่สุดการแพร่ระบาดยื้ดเยื้อ 9 เดือน หรือข้ามปี 2564 ทำให้ความสามารถจ่ายปันผลที่เคยสูงเหลือ 0%
เนื่องจากปัญหาสำคัญที่ตามมา คือ ความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของกลุ่มบริษัทต่างๆ และพบว่าปัจจัยด้านสภาพคล่องอาจกลายมาเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะว่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนหัก ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายสุทธิ (net IBD/EBITDA ratio) จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สวนทางกับสภาพคล่องของตลาดอาจปรับลดลงจากสภาวะที่นักลงทุนต่างเลี่ยงความเสี่ยง ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้สินระยะสั้นสูงและได้รับผลกระทบ จากสภาวะอุปสงค์ชะงักงันในขณะนี้ เพราะการต่ออายุหุ้นกู้ ในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้ถือว่า ค่อนข้างยาก หรืออาจจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูง
โดยอาจมีบางบริษัทที่ต้องขอกู้สินเชื่อกับธนาคารหรือแหล่งเงินทุนอื่นๆ เพื่ออุดช่องว่างด้านสภาพคล่องในระยะสั้นนี้ กลุ่มที่ต้องเฝ้าติดตามกลุ่มสายการบิน โรงแรม อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ โรงภาพยนตร์ อสังหาฯ น้ำมันและก๊าซ และอิเล็กทรอนิกส์อย่างใกล้ชิด เพราะกลุ่มเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากประเด็น การระบาดของ "โควิด-19" มากที่สุด