เช็คที่นี่! ถ้าป่วย 'โควิด-19' หมอจะรักษาอย่างไร ?
ขณะนี้ภาพรวมการบริหารสาธารณสุขในส่วนของการรักษา เตียงรองรับผู้ป่วย ในกรุงเทพฯ เตียงในโรงพยาบาลและโรงแรมที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยมีประมาณ 2,000 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาอยู่ราว 700 ราย มีทั้งผู้ป่วยอาการหนักและอาการเบา
ทั้งนี้ กลุ่มอาการหนักเตรียมเครื่องช่วยหายใจราว 300 เครื่อง ใช้รักษาผู้ป่วยอยู่ 20 ราย พื้นที่ต่างจังหวัดมีเตียงทั้งหมด 1.2 แสนเตียง ใช้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเฉพาะ 10,000 เตียง ขณะนี้ใช้รักษาผู้ป่วย 500 เตียง มีเครื่องช่วยหายใจ 1,000 เครื่อง
โดยผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและครองเตียงในภาคส่วนต่างๆ พบว่า โรงพยาบาลรัฐ 53.80% โรงพยาบาลเอกชน 275 เตียง จาก 650 เตียง หรือ 42.80% และสถานที่พักนอกโรงพยาบาล 111 เตียง จาก 510 เตียง หรือ 21.80% โดยการคัดกรองทั้งหลายถ้าเป็นอาการเล็กๆ น้อย ให้โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เป็นผู้คัดกรองก่อน ซึ่ง พบว่า มีการเข้าไปรับการคัดกรองในโรงพยาบาลเอกชนมากกว่า แต่เมื่อมีอาการหนัก โรงพยาบาลของรัฐจะเข้ารับการรักษามากกว่า
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ติดโควิด-19 โดยกลุ่มไม่มีอาการ ซึ่งมีราว 20 %ของผู้พบเชื้อ จะต้องรับไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 2-7 วัน หากไม่มีอาการ จะส่งเข้ารับการสังเกตอาการต่อในหอผู้ป่วยเฉพาะ หรือโรงพยาบาลเฉพาะกิจ เช่น โรงแรมที่เรียกว่า ฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากตรวจพบเชื้อ เมื่อหายกลับบ้าน สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกไปนอกบ้าน แยกตัวเองจากบุคคลอี่นอยู่ห่าง 2 เมตร แยกห้องทำงาน ไม่กินอาหารร่วมกัน จนครบ 1 เดือน
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในการดูแลรักษาผู้ติดโควิด-19 จะแบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ไม่มีอาการ ซึ่งมีราว 20 %ของผู้พบเชื้อ จะต้องรับไว้สังเกตอาการในโรงพยาบาล 2-7 วัน หากไม่มีอาการ จะส่งเข้ารับการสังเกตอาการต่อในหอผู้ป่วยเฉพาะ หรือโรงพยาบาลเฉพาะกิจ เช่น โรงแรมที่เรียกว่า ฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากตรวจพบเชื้อ เมื่อหายกลับบ้าน สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่จะต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกไปนอกบ้าน แยกตัวเองจากบุคคลอี่นอยู่ห่าง 2 เมตร แยกห้องทำงาน ไม่กินอาหารร่วมกัน จนครบ 1 เดือน
กลุ่มที่2 อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือ อายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะอ้วน ภูมิคุ้มกันต่ำ โรคปอดเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง โรคไตวายเรื้อรัง ตับแข็ง โรคเบาหวารที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออัมพาต รักษาตามอาการหรือพิจารณาให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล 2-7 วัน จากนั้นจะส่งเข้าสังเกตอาการต่อในฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ และเมื่อหายกลับบ้านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1
กลุ่มที่ 3 อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยง ให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาลและติดตามภาพถ่ายรังสีปอด หากภาพถ่ายรังสีปอดปกติ วัน จากนั้นจะส่งเข้าสังเกตอาการต่อในฮอสพิเทล (Hospitel) จนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ และเมื่อหายกลับบ้านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1 และ2 กลุ่มที่ 4 ปอดอักเสบไม่รุนแรง ซึ่งมีราว 12 %ของผู้พบเชื้อ ให้ยารักษาไวรัสในโรงพยาบาล และ ปอดอักเสบรุนแรง พบราว 3 %ของผู้พบเชื้อ ให้ยารักษาไวรัสในห้องไอซียู
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่าในส่วนของจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วันและ 14 วัน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนน้อยและการสอบสวนโรคสามารถตามผู้สัมผัสผู้ป่วยได้ทั้งหมดทุกคน แม้จะพบผู้สัมผัสติดเชื้อภายหลังแต่ก็อยู่ในระบบรักษาและเฝ้าระวัง จึงไม่ไปแพร่เชื้อให้ใครต่อ เป็นการค้นหาผู้ป่วยได้โดยเร็ว
อย่างไรก็ตาม จังหวัดเหล่านี้จะต้องคงมาตรการที่เข้มงวดต่อไป โดยจังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 7 วัน จะต้องค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 7-14 วันก่อนหน้านี้ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วัน จะต้องเน้นมาตรการ เฝ้าระวังเชิงรุกค้นหากลุ่มก้อนของไข้หวัดในชุมชน และติดตามคนที่เข้ามาใหม่ในพื้นที่อย่างเข้มงวด ซึ่งผู้สัมผัสผู้ป่วยทุกรายจะติดเชื้อ เพราะจากข้อมูลผู้สัมผัส 100 คน จะติดเชื้อประมาณ 2-4 %
ทั้งนี้ ฉากทัศน์การคาดการณ์สถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขใช้เพื่อวางแผนเตรียมการอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งดำเนินการโดยนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคมี 3 แบบ คือ 1.ไม่ทำอะไรเลย จะมีผู้ป่วยประมาณ 24,000-25,000 ราย 2.สามารถเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างได้ 50% จะมีผู้ป่วยราว 17,000 ราย และ3.สามารถเพิ่มมาตรการรักษาระยะห่างได้ 80% มีผู้ป่วยราว 7,000 ราย
“ยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง คือให้คนรู้ความจริง ให้เกิดปัญญาและสติ ให้เขาตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเอง ระยะนี้จึงอยากบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องขอความร่วมมือประชาชนจริงๆ เพื่อชะลอการระบาดให้ช้าที่สุดและผู้ป่วยเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด ทุกอย่างอยู่ที่คนไทยทุกคนจริงๆ” นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว
- อาการผู้ป่วยที่ส่งต่อ Hospitel
สำหรับผู้ติดเชื้อที่จะเข้ารับการพักฟื้นที่ Hospitel หลังจากเข้ารับการดูแลในโรงพยาบาลหลักครบ 7 วันแล้วแพทย์ประเมินว่ามีอาการน้อยซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 % ของผู้ติดเชื้อ โดยคนไข้นอนดูแลรักษาในโรงพยาบาลหลักแล้วอย่างน้อย 7 วันไม่มีอาการไข้ มีโรคประจำตัวที่คุมได้ เช่น เบาหวาน หรือความดันสูงที่คุมได้จะต้องมีการจัดยา สำหรับโรคประจำตัวมาพร้อมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ คนไข้ยินดีที่จะเข้ารับการพักฟื้นที่โรงแรม โดยจะมีการประเมินสุขภาพจิตไม่ก้าวร้าว ไม่มีภาวะซึมเศร้า และโรงพยาบาลหลักที่ดูแลในระยะแรกจะต้องยินดีรับคนไข้กลับไปดูแลหากมีความจำเป็น
โดยจะมีการจัดทีมบุคลกรทางการแพทย์ที่เป็นแพทย์และพยาบาลสัดส่วน 3-5 คนต่อการดูแลผู้ป่วย 100 คนในห้องพักจะมีเทอร์โมมิเตอร์อัตโนมัติและเครื่องวัดระดับออกซิเจนคนไข้จะอยู่ในห้องตลอดเวลา จะเปิดประตูมาเฉพาะช่วงเวลารับอาหารไปทานในห้องเท่านั้น สำหรับโรงแรมสนามจะต้องมีห้องพักมากกว่า 30 ห้อง และมีใบอนุญาตกิจการโรงแรม และโครงสร้างอาคารและวิศวกรรมสมบูรณ์ พื้นห้องพักไม่เป็นพรหม ระบบปรับอากาศแยกส่วนไม่เป็นระบบท่อส่งลมร่วมกัน มีระบบโทรศัพท์สื่อสาร
ทั้งนี้ Hospitel จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสถานพยาบาล และคนที่เข้าพักเป็นผู้ป่วย ค่าใช้จ่ายในการเข้าพักฟื้นเบิกในอัตราเบิกได้จากกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐตามสิทธิ์ผู้ป่วยได้ขณะนี้ในพื้นที่กทม.มีโรงแรมที่มีความพร้อมและผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ 1.โรงแรมปริ๊นซ์ตัน มีห้อง 270 ห้อง รับผู้ติดเชื้อมาดูแลแล้ว 50 ราย และ2.โรงแรมเดอะพาลาสโซ เครือโรงแรมดิเอมเมอรัล มีห้องราว 430 ห้อง คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีผู้ป่วยเข้าพักฟื้นที่โรงแรมนี้ รวมแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯมีห้องรองรับ 700-800 ห้อง
นอกจากนี้ยังมีโรงแรมที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังสอบสวนโรค หรือ โรงแรมกักตัว(Hotel Isolation) โดยจะเป็นสถานที่กักตัวของกลุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรควินิจฉัยว่าจะต้องเข้ารับการกักตัวโดยกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นได้มีการออกระเบียบหลักเกณฑ์ให้สามารถใช้งบประมาณกรณีการกักตัวของกลุ่มเสี่ยงได้
รวมทั้งคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เห็นว่าตัวเองจะต้องกักตัวหรือแยกตัวจนครบ 14 วันและไม่ต้องการที่จะอยู่ร่วมกับครอบครัวเช่น คนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หรืออื่นๆ โดยที่สมัครใจที่จะจ่ายเงินค่าเข้าพักเอง ซึ่งโรงแรมจะต้องผ่านการประเมินตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขแต่จะไม่ได้อยู่ในระดับเข้มข้นเหมือนเกณฑ์ของฮอสพิเทล เพราะที่นี่ไม่ได้ดูแลผู้ติดเชื้อ
ทั้งนี้ มีผู้ประกอบการโรงแรมสนใจยื่นเข้ารับการประเมินกว่า 85 แห่ง อาทิ กรุงเทพฯ 85 แห่ง จ.ชลบุรี 15 แห่ง นครราชสีมา 8 แห่ง เชียงใหม่ 6 แห่ง รวมทั่วประเทศมีห้องพักทั้งสิ้น 14,000 ห้อง กำลังอยู่ระหว่างการเข้าประเมิน แต่มีโรงแรมที่ผ่านการประเมินผ่านระดับเกรด เอ แล้วราว 16 แห่ง มีห้องพักรวม 2,000 ห้อง เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับหากในอนาคตจำเป็นต้องใช้พักฟื้นผู้ติดเชื้อ
- ผู้ป่วยติดเชื้อในบ้านมากที่สุด
จากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ติดเชื้อระหว่างเดือนมกราคม– 4 เมษายน 2563 พบว่าในเขตกทม. ซึ่งมีผู้ป่วย 772 ราย ติดเชื้อจากการการอยู่ร่วมบ้านกันกว่า 102 ราย หรือ 35% ถือเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุด ถัดมา คือ จากเพื่อนและการเข้าสังคม 61 ราย คิดเป็น 21% อยู่ในสถานที่เดียวกัน 47 ราย คิดเป็น 16% จากการร่วมงาน 63 ราย คิดเป็น 22% และ ไม่ระบุ 15 ราย คิดเป็น 5%ขณะที่ในต่างจังหวัด จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 817 ราย จำแนกกลุ่มผู้ติดเชื้อจากการอยู่ร่วมบ้าน 157 ราย หรือ 49% จากเพื่อนและการเข้าสังคม 43 ราย คิดเป็น 13% จากการอยู่ในสถานที่เดียวกัน 46 ราย คิดเป็น 14% จากการร่วมงาน 49 ราย คิดเป็น 15% และ ไม่ระบุ 27 ราย คิดเป็น 8%
การติดเชื้อจากคนในบ้านเกิดจากการแสดงความรักในบ้าน กอด หอม ใกล้ชิด ดังนั้น ต้องเว้นระยะห่าง แสดงความรักอย่างอื่นได้ ส่งผ่านไลน์แทน กลับถึงบ้านควรทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม ป้องกันการติดเชื้อขณะเดียวกัน แนวโน้มตั้งแต่ต้นปี ตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้น ยังจำเป็นต้องดูแล สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ กลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ต้องช่วยกันทำตามมาตรการ ป้องกันคนอื่นๆ ในประเทศติดเชื้อ ในส่วนของจำนวนผู้ป่วยรายวัน แม้คนต่างจังหวัดจะเพิ่มขึ้น และของ กทม. มีแนวโน้มลดลง แต่ กทม. ก็ยังสูงสุดของประเทศ จึงต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาคนที่อ่อนแอมากที่สุดในบ้าน คือ เด็ก และผู้สูงอายุ ควรห่างท่านห้ามใกล้ชิดเด็ดขาด เพราะเป็นกลุ่มที่จะมีการเสียชีวิตมากที่สุด
- ไม่แสดงอาการแพร่เชื้อได้
นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าผู้ป่วยหรือผู้ที่เริ่มหายกลับไปบ้านแพทย์ต้องกำชับผู้ป่วยว่า หากกลับไปแล้วต้องกักตัวเอง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ไปที่อื่น ขณะเดียวกัน คนไข้หากไม่แน่ใจว่าตัวเองป่วยหรือเสี่ยงหรือไม่ เช่น บางคนไม่มีอาการ กลับจากกทม. และไปชนบท ต้องแยกไม่ควรคลุกคลีกับคนในบ้านถึงแม้ไม่มีอาการ หรือบางคนมีอาการไอ ไข้ แต่ไม่มีประวัติสัมผัสกลุ่มที่มีเชื้อ ขอแนะนำให้แยกไว้ก่อน สิ่งสำคัญที่สุดทุกคนต้องตระหนักว่า มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ เว้นระยะหว่างทางสังคม ถึงแม้จะไม่ป่วย ก็มีความเสี่ยง ต้องพยายามเลี่ยงที่สุดสำหรับคนที่ป่วยและยังไม่หายดีต้องมาพักที่โรงพยาบาลที่สำรองไว้
เนื่องจากจำนวนคนไข้แสดงอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ มีประมาณ 20 %ซึ่งในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อาการจะยิ่งน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย หากไปดูเอกสารทางวิชาการ ในเด็กจะพบว่ามีอาการไข้ไม่ถึงครึ่ง และอาการอื่นๆ มักจะเบา ไม่จำเป็นต้องรับยาต้านไวรัสใดๆ จบเร็ว หายเร็ว มากกว่าคนที่มีอายุมาก
“ทุกวันนี้เรารับคนไข้ในโรงพยาบาลแม้อาการเบา ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์ทั้งหมด แต่เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อของผู้ที่มีอาการน้อยๆ ด้วยเพราะคนไข้อาการน้อยแพร่เชื้อได้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นหรือตอนที่อาการดีขึ้น สำหรับคนไข้ที่ไม่มีอาการเลยตลอดการติดเชื้อ จนหายเป็นปกติ มีโอกาสแพร่เชื้อได้ แต่น้อยมาก เพราะเชื้อมาจากน้ำลาย ถ้าน้ำลายไม่ออกมา โอกาสแพร่เชื้อก็น้อยมากตามไปด้วย”