โรดแมพ “เซ็นทรัลรีเทล” สู้วิกฤติโควิด-เศรษฐกิจโลกชะงัก ทุบไตรมาสแรก “ติดลบ” มุ่งรักษาสภาพคล่อง เน้นลงทุนเทคโนโลยี-เพิ่มทักษะบุคลากร-ออมนิแชนแนลแพลตฟอร์ม เคลื่อนธุรกิจสู่ “นิวอีโคโนมี-นิวนอร์มอล” ทั้งเตรียมความพร้อมรอจังหวะเปิดเมือง พ.ค.
วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉุดภาวะเศรษฐกิจสะดุดแบบไม่ทันตั้งตัวพร้อมกันทั่วโลก ซ้ำเติม “เศรษฐกิจไทย” สโลว์ดาวน์มาอย่างต่อเนื่องก่อนสถานการณ์โควิด นับเป็นห้วงโอเวอร์ ไครซิส (Over Crisis) ของทุกธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง เกิดการดิสรัปในหลายมิติ ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์อีกครั้งใหญ่
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอาร์ซี กล่าวว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วนในทั่วโลก เซ็นทรัลรีเทล วางยุทธศาสตร์รับมือสถานการณ์ขณะนี้ มุ่ง 2 โฟกัสหลัก ได้แก่ Focus on Crisis จัดการธุรกิจระยะสั้น และธุรกิจในวันนี้ (วันต่อวัน) ให้เสียหายน้อยที่สุด และ Focus เรื่องสุขภาพ ความสะอาดมากขึ้น ทั้งสุขภาพกาย และใจ (physical & mental health)
ขณะเดียวกัน เตรียมพร้อมสู่ระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่ต้องเว้นระยะห่างกับลูกค้ามากขึ้น (Reopening new economy with distanced consumer) จากวิกฤติในครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มธุรกิจใหม่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป องค์กรที่พร้อมเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้
ประการสำคัญ ธุรกิจต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดให้มีสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่า Cash is King ซึ่ง เซ็นทรัล รีเทล “โชคดีที่กู้เงินน้อย” ไม่มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด (Liquidity) โดยเตรียมเงินสดไว้พร้อมถึงสิ้นปี 2563 และต่อเนื่องอนาคต
"เราต้องเป็นคนสุดท้ายที่ Survive และ เป็นคนแรกที่รอดจาก Crisis การขับเคลื่อนธุรกิจจากนี้จะชนะ หรือรอด ในนิวนอร์มอล (New Normal) ต้องดูว่าจะต้อง Reset เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด หรือ Restart เริ่มใหม่"
มุ่งลงทุนธุรกิจหนุนการเติบโต
เซ็นทรัลรีเทล ยังมีการลงทุนต่อเนื่องในสิ่งสำคัญสำหรับอนาคต หรือกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตได้ (Future Growth) เช่น เทคโนโลยี การพัฒนาทักษะบุคลากร (Re-skill People) และ ออมนิแชนแนลแพลตฟอร์ม
นอกจากนี้ ยังได้มีการขยายสาขาในประเทศไทย เช่น โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ มอลล์ บ่อวิน และ โก (GO) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นบิสสิเนสโมเดลใหม่คล้ายโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ มอลล์ ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ได้มีการชะลอการลงทุนในบางอย่างที่ยังไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ เช่น การปรับปรุงห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีก ชะลอออกไปตามความจำเป็น
เสริมโมเดลใหม่ฟื้นธุรกิจตปท.
ทางด้าน กิจการค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลในต่างประเทศ โดยเฉพาะอิตาลี ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิดนั้น ห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต ในอิตาลี ได้ปิดให้บริการตามมาตรการของรัฐบาล แน่นอนว่าไม่มียอดขาย ขณะที่ค่าใช้จ่าย (Cost) ยังคงอยู่ อาทิ ค่าเช่า ค่าจ้าง และดอกเบี้ย
“รัฐบาลยุโรปช่วยเรื่อง Payroll ของพนักงาน และเจ้าของที่ดิน (Landlord) ช่วยเหลือเรื่องค่าเช่า ทำให้ Cost เราต่ำมาก ไม่ขาดทุนเยอะ แม้ไม่มียอดขายเลย Cashflow ของเราก็ดีขึ้นถึงห้างจะปิด”
โดยภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย แต่ละธุรกิจทั้งต่างประเทศและประเทศไทยต่างต้องมีแพลตฟอร์มใหม่รองรับการในการที่จะต่อยอดจากหน้าร้าน เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้สามารถสั่งของข้ามประเทศได้ ซึ่งอนาคตจะเร่งเชื่อมต่อแพลตฟอร์มนี้ให้มากขึ้น
ไตรมาสแรกติดลบครั้งแรก
สำหรับ ผลประกอบการแรกที่ผ่านมา ช่วงต้นก่อนเกิดวิกฤติโควิด เซ็นทรัลรีเทลมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่มากกว่าจีดีพีของประเทศในขณะนั้น แต่หลังจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างหนักปลายไตรมาส 1 ทำให้ภาพรวม 3 เดือนแรกตัวเลข “ติดลบ” หนึ่งหลัก แต่หากเทียบตลาดค้าปลีกรวม ถือว่าดีกว่าคู่แข่ง
ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้ปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด มีการปิดร้านค้าปลีกชั่วคราวส่วนของธุรกิจที่ไม่ใช่อาหาร (Non-Food) ส่วนธุรกิจอาหาร (Food) ยังคงให้บริการตามปกติ
“การทำงานของเซ็นทรัลรีเทลอยู่บนโจทย์ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ในความเป็นศูนย์กลางของชีวิตทุกคน (Center of life) ในทุกสถานการณ์ ภายใต้ความพร้อมของระบบออนไลน์ และความแข็งแกร่งของออมนิแชนแนล ให้ลูกค้าอยู่ที่บ้านสามารถจับจ่ายได้”
ออมนิแชนแนลแกร่งได้เปรียบคู่แข่ง
เซ็นทรัลรีเทลพัฒนาออมนิแชนแนลแพลตฟอร์มเชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์แบบไร้รอยต่อ ทำให้มีความพร้อมในการรับมือกับวิกฤติโควิดในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี สะท้อนจากยอดขายออนไลน์เติบโตก้าวกระโดด จากปี 2561 ยอดขายออนไลน์คิดเป็น 1% ของยอดขายทั้งหมด ขยับเป็น 5% ในปี 2562 และปีนี้คาดสัดส่วน 10% คาดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ก่อนสิ้นปี
ที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทล ริเริ่มบริการออมนิแชนแนลต่างๆ เช่น Chat&Shop อยู่บ้านก็ช้อปได้ Click&Collect บริการรับสินค้าด้วยตัวเอง ณ จุดบริการใกล้บ้าน Reserve&Collect จองก่อนมั่นใจกว่าได้สินค้าชัวร์ รับของพร้อมชำระเงิน ณ จุดบริการที่สะดวก Call&Shop บริการสั่งซื้อสินค้าสำหรับนักช้อปที่ไม่ถนัดช่องทางออนไลน์ Drive Thru บริการใหม่ส่งสินค้าถึงรถ e-Ordering เช็คสต๊อกสินค้าแบบเรียลไทม์ สั่งจองรับสินค้าภายหลัง One Hour Pickup สั่งออนไลน์ พร้อมรับสินค้าได้ที่ร้านภายใน 1 ชั่วโมง
"กลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่อาหารซึ่งถูกปิดชั่วคราวกว่า 90% ของร้านค้าทั้งหมด หากยังขายด้วยวิธีเดิมๆ ยอดขายอาจมีแค่ 10% แต่ออมนิแชนแนลแพลตฟอร์มทำให้ยอดขายเพิ่มเป็น 30% หมายความว่ามี Productivity ที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ย้ำว่าเรามาถูกทางและแข็งแกร่งจริง"
เตรียมพร้อมรอจังหวะ'เปิดเมือง
นายณนน์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มไตรมาส 2 สถานการณ์น่าจะคลี่คลาย คาดการณ์เดือน พ.ค. จะกลับมาเปิดให้บริการได้ โดยเซ็นทรัลรีเทลได้เตรียมความพร้อมสูงสุดรองรับการกลับมาเปิดหน้าร้านอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มข้นที่ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง
ทั้งด้านสุขภาพพนักงาน ลูกค้า ความสะอาดของห้างร้าน ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย และใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ให้เกิดความแออัด การเตรียมพร้อมสินค้าสำหรับการจำหน่ายทั้งช่องทางออฟไลน์ และพร้อมส่งในช่องทางออนไลน์ จัดช่วงเวลาพิเศษให้ผู้สูงอายุ คนพิการ ตั้งครรภ์ สำหรับซื้อของ และช่องการจ่ายเงินพิเศษ
รูปแบบกิจกรรมการตลาดประเภท บิ๊กเซลอีเวนท์ ต้องหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้มีกระจุกตัวของลูกค้าจำนวนมาก รวมถึงการจำกัดการใช้พื้นที่น้อยลง เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน เพราะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม