ข่าวดีบ.เอกชนไทย ‘ไบโอเนท-เอเชีย’ พัฒนาวัคซีนโควิด-19ก้าวหน้าใกล้เคียงต่างชาติ
ไบโอเนท-เอเชียบริษัทเอกชนไทยรายแรกที่พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ฉีดในหนูทดลองเมื่อวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งจะใช้เวลา5 สัปดาห์เพื่อรู้ผลเบื้องต้นคาดว่าปลายเดือนพ.ค.หากได้ผลออกมาดี จะนำไปพัฒนาต่อทดลองในมนุษย์เฟสที่ 1และ2 ควบคู่กันนับว่ามีความก้าวหน้าที่น่าจับตามอง
ขณะนี้ทั่วโลกมีคนติดโรคโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อรวม 2,994,796 ราย อาการหนัก 57,603 ราย รักษาหาย 878,234 ราย เสียชีวิต 206,995 ราย วัคซีนและยาจึงจำเป็นในการป้องกันและดูแลรักษา โดยเฉพาะวัคซีนเป็นความหวังของคนทั่วโลกที่จะป้องกันโรคโควิด-19และเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลแต่ละประเทศมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวัคซีนอย่างจริงจัง ขณะนี้มีวัคซีนตัวเลือกของประเทศต่างๆที่องค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) ขึ้นบัญชีไว้ประมาณ 70 บริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีน และอยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งการพัฒนาวัคซีนแต่ละตัวใช้เวลานานนับสิบปีจนถึงครึ่งศตวรรษ
ในส่วนของการพัฒนาวัคซีนของประเทศไทยเองก็มีความก้าวหน้าเช่นกัน โดยบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (BioNet-Asia) ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2544 (โดยมีผู้ร่วมทุนเอกชน ไทย-ฝรั่งเศสที่ประสบการณ์ด้านวัคซีนมายาวนาน)ได้นำกล้าเชื้อชนิด DNA ที่ซื้อมาจากต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มาพัฒนาเป็นวัคซีนตัวเลือก (candidate vaccine) และได้เริ่มฉีดในหนูทดลองเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการพัฒนาวัคซีน (pre-clinical) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์เพื่อรู้ผลเบื้องต้นซึ่งจะครบระยะ กลางเดืิอนพฤษภาคม และจะประเมินผลได้ในปลายเดือนพฤษภาคม หากได้ผลออกมาดี จะนำพัฒนาต่อตามกระบวนการจนถึงการนำไปทดลองในมนุษย์เฟสที่ 1 และ 2 ควบคู่กัน ซึ่งนับว่ามีความก้าวหน้าไม่น้อยไปกว่า ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ
“วิฑูรย์ วงศ์หาญกุล” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด(BioNet-Asia Co.,Ltd) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีวัคซีนไว้ป้องกันโรคโควิด-19 โดยหากผลการทดลองในหนูออกมาดี ก็จะนำไปพัฒนาต่อด้วยการทดลองในคนเฟส 1 และ 2 ควบคู่และพัฒนาต่อไปในการทดลองเฟสที่ 3 จนสามารถขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งนี้การดำเนินการทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรายงานความหน้าให้กับองค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ)ทุกระยะที่มีความก้าวหน้าของการดำเนินการ และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด
บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (BioNet-Asia)เป็นบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์แบบ Innovative Solution เริ่มจากการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิตวัคซีน และก้าวเข้าสู่การนำเข้าวัคซีน วิจัยและพัฒนา และจัดจำหน่ายวัคซีนทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง จนปัจจุบันสามารถเป็นผู้นำด้านวัคซีนในประเทศไทย โดยการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนจากต้นน้ำแบบครบวงจรได้เป็นรายแรกของประเทศ
นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทแรกที่ผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนชนิดไม่ไช้เชลล์(recombinant acellular pertussis) โดยวิธีทางพันธุวิศวกรรมจากต้นน้ำแบบครบวงจร ทั้ง3 ขั้นตอนได้แก่ (1) การคิดค้นกล้าเชื้อเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีน (2) การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ และ (3) การผลิต บรรจุและจัดจำหน่ายได้เป็นรายแรกของประเทศเมื่อปี 2559โดยใช้ระยะเวลายาวนานถึง 10 ปีก่อนที่จะสามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จ ซึ่งใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 5.000 ล้านบาท
การพัฒนาและผลิตวัคซีนไอกรนชนิดดังกล่าวสำเร็จทำให้บริษัทมีองค์ความรู้และทรัพยากรมนุษย์ที่มีความพร้อม ทีี่สามารถนำไปเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาวัคซีนอื่นฯได้ และครั้งนี้ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เล่าว่าใช้งบประมาณในการซื้อกล้าเชื้อ DNA จากต่างประเทศมาพัฒนาวัคซีนในครั้งนี้ตลอดจนอุปกรณ์เพื่อการผลิตสำหรับวัคซีนชนิดนี้ไปแล้วประมาณ 100-200 ล้านบาทและคาดว่าจะใช้อีกประมาณ 500-1,000 ล้านบาทในขั้นตอนการทดลองในคนจนไปถึงขั้นตอนจดทะเบียนกับคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อจำหน่าย
อย่างไรก็ตามการทดลองวัคซีนในยุคนี้ที่วงการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าอาจจะไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนเมื่อครั้งในอดีต ที่การพัฒนาวัคซีนแต่ละตัวใช้เวลานานนับสิบปีจนถึงครึ่งศตวรรษ แต่มีโอกาสที่จะเป็น “ซุปเปอร์ฟาสแทรค” ข้อดีคือสามารถร่นระยะเวลาการทดลองได้เร็วขึ้น และแน่นอนว่าประเทศที่ทำสำเร็จ จะต้องทำวัคซีนที่ได้ไปช่วยเหลือคนในประเทศนั้นก่อนๆที่ผลิตจำหน่ายภายนอกประเทศในส่วนประเทศไทยก็เช่น ถ้าผลการทำลองวัคซีนของเราออกมาได้ผลดีสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ ตั้งใจว่าจะผลิตให้ใช้กับบุคคลกรทางการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นด่านหน้าที่ต้องต่อสู้กับโควิด-19 จากนั้นค่อยมาดูว่าจะขยายการผลิตและร่วมมือกับหน่วยงานอื่นของรัฐเพื่อขยายการผลิตในระยะต่อไปอย่างไร
“วิฑูรย์” เล่าว่าเมื่อ 45 ปีก่อนเขาตั้งใจเสมอว่าจะทำโรงงานวัคซีนให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยให้ได้ เพราะไม่มีเอกชนรายไดลงทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนต้องใช้องค์ความรู้ และบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้าน รวมทั้งทุนทรัพย์และเวลานานมากไม่ต่ำกว่า 10-15 ปีกว่าจะสำเร็จออกมาเป็นวัคซีนแต่ละตัว และยังจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาการขายการตลาดอีกเป็น 10 ปี แต่ด้วยความที่เคยทำงานกับบรรษัทข้ามชาติด้านวัคซีนมาตลอดจึงตัดสินใจลงทุนสร้างรงงานวัคซีนด้วยการใช้เงินสะสม เงินกู้ธนาคารและกำไรจากธุรกิจค้าต่างวัคซีน ค่อยฯทำทีละน้อยทีละขั้นเพราะสถาบันการเงินไม่ค่อยจะปล่อยกู้ให้ครบวงจร และค่อยฯทำต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้เขาอายุ 73 ปีแล้วแต่ก็ยืนยันว่าจะทำต่อไปด้วยความรักและตั้งใจที่จะทำให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในวันที่ไม่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้แล้ว
“ยืนยันว่าไบโอเนท-เอเชีย มีทีมงานที่พร้อมที่จะพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนกว่าจะประสบผลสำเร็จออกมาให้ได้ สมมติว่า หากครั้งนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จ ก็จะไม่ละความพยายามไปต่อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบผลสำเร็จเพราะการพัฒนาวัคซีน จะต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ นักวิจัย และที่สำคัญที่สุดต้องมีความต่อเนื่องของบุคคลกร โและต้องเดินหน้าพัฒนาต่อไปให้สำเร็จเพื่อให้ประเทศชาติมีองค์ความรู้ในการรับมือหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นในอนาคต”ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวทิ้งท้าย