ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งของ ก.ล.ต " กรณีลงโทษ "ชญานี โปขันเงิน"
วันนี้ ผู้พิพากษาศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษของสำนักงาน ก.ล.ต ในกรณีพักการให้ความเห็นชอบการเป็นบุคคลากรในตลาดทุนของนางสาวชญานี โปขันเงิน ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 1 ปี
วันนี้ผู้พิพากษาศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ในกรณีพักการให้ความเห็นชอบการเป็นบุคคลากรในตลาดทุนของนางสาวชญานี โปขันเงิน ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นกรณีเดียวกันกับนายชยันต์ อัคราทิตย์ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนางสาวชญานีและนายชยันต์ ได้ถูก ก.ล.ต สั่งลงโทษพักการเป็นบุคลาการในตลาดทุนเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2560 – 3 สิงหาคม 2561 จากการที่ได้เข้าให้ถ้อยคำแก่สำนักงาน ก.ล.ต ในฐานะพยาน ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต ดำเนินการตรวจสอบนายสาคร สุขศรีวงศ์ ในข้อหาชักชวนบุคคลอื่นให้ซื้อหุ้น BSEC โดยอาศัยข้อมูลภายใน และทางสำนักงาน ก.ล.ต พิจารณาว่า ให้การขัดต่อความเป็นจริง มีเจตนาเพื่อช่วยเหลือปกปิดบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อช่วยนายสาคร โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และสั่งเพิกถอนคำสั่งโดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่ง
ด้านนางสาวชญานีกล่าวขอบพระคุณท่านผู้พิพากษาที่ให้ความเป็นธรรมแก่ตนและนายชยันต์ โดยกล่าวว่าหลังจากที่ตนเองโดนลงโทษด้วยคำสั่งที่ "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" นี้ ตนเองยังได้รับความกดดันต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนอันเป็นเท็จจากบุคคลภายนอกที่ทำให้ตนได้รับความเสียหาย แม้ท้ายที่สุดบุคคลดังกล่าวได้รับสารภาพผิดต่อศาลในคดีอาญาที่ตนได้ฟ้องบุคคลดังกล่าวในฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งบุคคลดังกล่าวนั้นได้ยอมรับว่าได้ร้องเรียนเรื่องราวอันเป็นเท็จและอีกหลายๆกรณี
ทั้งนี้ตลอดชีวิตการทำงานในวงการตลาดทุนไทยของตนเอง มากกว่า 30 ปี พบว่ามีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดระบบพวกพ้องและมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมจนมีการใช้อำนาจที่มีเพื่อขจัดคู่แข่งทางธุรกิจ ดังนั้นตนเองจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลต่างๆในตลาดทุน ยึดมั่นในธรรมาภิบาล มีความเป็นกลางโดยเปิดใจรับฟังปัญหาจากทุกฝ่าย และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้โดยเท่าเทียมกันโดยปราศจากอคติและที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเคารพต่อกฏหมาย เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ