ล็อบบี้เพิ่ม '3 เสียง' ปลด 'อุตตม' หลังรวมใบลาออก 15 กรรมการบริหาร พปชร.
รวมใบลาออก "กรรมการบริหาร" พลังประชารัฐ 15 คน ล็อบบี้อีก 3 เสียงให้เกินครึ่ง ส่งผล "อุตตม" หลุดหัวหน้าพรรคอัตโนมัติ "ธรรมนัส" นัดถก "40 ส.ส." ซัดบางคนสร้างความสับสน ขณะที่เพื่อไทยยื่น กกต.สอบ "เสธ.อ้น" ครอบงำ เอาผิดยุบพรรค
ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังมีความพยายามผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แทนนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง โดยมีรายงานว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รองหัวหน้าพรรค ได้นำร่องลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเป็นคนแรก
ล่าสุด วานนี้ (30 เม.ย.) มีรายงานข่าวว่า กลุ่มสนับสนุน พล.อ.ประวิตร ได้ล็อบบี้กรรมการบริหาร พปชร.โดยรวบรวมใบลาออกได้รวม 15 คน แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ หัวหน้าพรรคพ้นจากตำแหน่งได้โดยอัตโนมัติ เนื่องจากต้องมีจำนวนกรรมการบริหารพรรคลาออกเกินครึ่งหนึ่ง
โดยจำนวนกรรมการบริหาร พปชร. มีทั้งหมด 34 คน ดังนั้นกึ่งหนึ่งต้องมีการลาออกไม่ต่ำกว่า 18 คน ซึ่งขณะนี้ ยังขาดอยู่อีก 3 คน มีรายงานว่า สำหรับรายชื่อ กก.บห.พรรคพปชร.ที่เซ็นใบลาออก ยังไม่มีการเปิดเผย เนื่องจากต้องเก็บไว้เป็นความลับ เพื่อยังไม่ให้มีผล เนื่องจากอาจมีดีล ปรับแผนได้อีก โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตร ขณะนี้พยายามล็อบบี้กรรมการบริหารพรรคอย่างน้อยอีก 3 เสียงให้ตัดสินใจลาออก เพื่อให้ครบจำนวน 18 คน
วันเดียวกัน (30เม.ย.) เวลา 11.30 น. มีการนัดหมาย ส.ส.พรรค พปชร. ประมาณ 40 คน เพื่อพูดคุยกันที่อาคารว่องวานิช ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กทม. นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรค ซึ่งเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ตามปกติ โดย ส.ส.ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใกล้ชิด ร.อ.ธรรมนัส
แหล่งข่าวจากที่ประชุมเปิดเผยว่า “ประเด็นสำคัญในการประชุม ได้มีการสะท้อนปัญหาของ ส.ส.เพื่อให้ผู้ใหญ่ในพรรครับฟังเสียงสะท้อนจาก ส.ส.มากขึ้น และอยากให้พรรคมีระบบระเบียบที่เป็นมาตรฐาน ไม่ใช่มีบางคนไปสร้างความสับสน ปัญหาเหล่านี้ อยากขอเข้าพบ พล.อ.ประวิตร เพื่อบอกเล่าปัญหา”
"ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคเวลานี้ ที่ประชุมพูดคุยกันว่า ไม่ใช่ปัญหาของพรรค แต่เป็นปัญหาเพียง 3 คน ที่ออกมาเคลื่อนไหว ซึ่ง 3 คนนี้อยู่ในบัญชีรายชื่อ และเป็นคนที่ยังไม่เป็นรัฐมนตรี แต่อยากเป็นรัฐมนตรี เชื่อว่าผู้ใหญ่ในพรรคไม่รู้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร เองก็ไม่รู้ ไม่มีใครสนใจปัญหาการเมือง เพราะสนใจแก้ปัญหาโควิด-19 อยู่” แหล่งข่าว ระบุ
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวด้วยน้ำเสียงเข้ม หลังถูกซักถามถึงปัญหาภายในพรรค พปชร. ว่าจบหรือยัง โดยตอบว่า “จบ” เมื่อถามต่อว่าจะต้องมีการพูดคุยอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “ยืนยันว่า ไม่มี” ก่อนจะขึ้นรถส่วนตัวเดินทางกลับทันที
ทางด้านนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนสมาชิกพรรค พปชร. เปิดเผยว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นใบลาออกของกรรมการบริหารพรรค รวมถึงนายณัฏฐพล ยังไม่เห็นใครมายื่นใบลาออกกับตนเลย ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับพรรค เมื่อมีการยื่นใบลาออกจากกรรมการบริหาร จะต้องดำเนินการภายใน 45 วัน หากมีใครยื่นมา ก็จะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารใหม่ทดแทน
ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เปิดเผยว่า ตนได้ส่งคำร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทางไปรษณีย์ เพื่อขอให้ตรวจสอบพรรค พปชร. กรณีที่มีกระแสข่าวว่า พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา (เสธ.อ้น) ส.ว. อยู่เบื้องหลังการเดินเกมให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พปชร. เนื่องจากกรณีดังกล่าว อาจเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อาจนำไปสู่การยุบพรรค
"คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.กนิษฐ์ ที่ยอมรับว่า เข้าไปช่วยงานการเมือง พล.อ.ประวิตร นั้น มีข้อเท็จจริงที่อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 113 และ 114 ที่ระบุว่า ส.ว.ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่ฝักใฝ่หรืออยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง รวมถึงฝ่าฝืนมาตรา28, 29, 46 และ 90(2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ระบุว่า หากมีหลักฐานว่าพรรคการเมืองยินยอมให้คนนอก ที่มิใช่สมาชิกครอบงำในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองขาดอิสระ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนั้น ให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค รวมถึงส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อไปด้วย
ดังนั้น ขอให้ กกต.ตรวจสอบคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.กนิษฐ์ ด้วยว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พปชร.กระทำการเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า สังคมมีการกล่าวหามาตลอดว่า ส.ว.เป็นทหารเกณฑ์ของรัฐบาล ที่รัฐบาลสั่งได้ ดังนั้น ส.ว.จะต้องคำนึงและระมัดระวังตัวให้มาก การไปยุ่งเกี่ยวหรือเดินเกมการเมืองให้กับพรรคการเมืองอย่างชัดเจนนั้น โดยมารยาทถือว่าไม่เกรงใจประชาชน และขาดมารยาททางการเมืองอย่างยิ่ง
ขณะที่ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อ พล.อ.กนิษฐ์ เพื่อขอคำชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเจ้าตัวได้ปิดโทรศัพท์มือถือ