ทิศทาง & ทางออก 'การศึกษาไทย' หลังโควิด-19
ผลกระทบจากวิกฤติโควิดส่งผลกระทบต่อการศึกษาไทย อนาคตโรงเรียนคงต้องหันมาสู่การเรียนออนไลน์มากขึ้น แต่อีกมุมหนึ่งยังมีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่อคงจะไม่ใช่ทางเลือกในเวลานี้ นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องขบคิด
การศึกษาทั่วโลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนเป็นการศึกษาแบบ E-Learning เป็นหลัก นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้คาดการณ์เมื่อต้นเดือนเมษายนนี้ว่า แม้โควิด- 19 อาจเริ่มซาลงและถูกควบคุมได้ภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่พฤติกรรมเว้นระยะห่างทางกายภาพและสังคม (Physical and Social Distancing) น่าจะกลายเป็นพฤติกรรมที่ดำเนินต่อไปจนถึงปีหน้า เพราะผู้คนยังคงหวาดระแวงอีกนาน อย่างไรก็ดีการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์มากขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่องบประมาณมากทีเดียว
ดิฉันขอร่วมคาดการณ์ว่า สำหรับประเทศไทยนั้นอีกไม่นาน รัฐบาลคงต้องพิจารณาออกมาตรการการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่างๆ เชื่อว่าจากเดิมที่เคยมีนิสิตนักศึกษา นักเรียน จำนวนมากมานั่งเรียนนั่งสอบในห้องเดียวกัน จากนี้สถานศึกษาจัดระยะห่างอย่างน้อยหนึ่งเมตร ทุกคนในห้องเรียนต้องสวมหน้ากาก มีเจลล้างมือหน้าห้อง มีการทำความสะอาดห้องเรียน เครื่องมือเครื่องใช้ในห้องเรียนทุกคาบเรียน
สถานศึกษาที่มีเนื้อที่จำกัดและมีงบประมาณจำกัด ก็ต้องขบคิดกันอย่างหนักว่าจะบริหารการเรียนการสอนและงบประมาณอย่างไร ถ้ายังจำเป็นต้องเรียนกันใน ห้องเรียน ก็คงต้องแบ่งผู้เรียนเป็นรอบๆ ไม่ให้มีคนอยู่ในห้องเดียวกันมกเกินไป ในแง่ของหลักสูตรก็คงต้องมีการปรับชั่วโมงการเรียนการสอนให้กระชับขึ้น เน้นให้ผู้เรียนไปศึกษาด้วยตนเองที่บ้านได้มากขึ้น
สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจะต้องช่วยสนับสนุนโรงเรียนในสังกัดกระทรวง ก็คือพัฒนาฝึกอบรมครู อาจารย์ และผู้เรียน ให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเชื่อว่าครูและนักเรียนในชนบทหลายคนอาจไม่มีคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยใช้ด้วยซ้ำไป รัฐก็คงต้องจัดงบประมาณด้านนี้
แต่ในเวลานี้จะหวังให้รัฐบาล ช่วยเหลืออย่างเดียวคงไม่ไหว เพราะงบประมาณได้ถูกนำไปใช้กับการแจกเงินเยียวยากลุ่มผู้เดือดร้อนไปมากมายแล้ว ดิฉันเชื่อว่าไทยและอีกหลายประเทศก็คงยังไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาทางออนไลน์เป็นหลัก ยังจำเป็นต้องมีการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เห็นหน้า เห็นตากันอยู่
ไม่มีเงินค่าเทอมก็เรียนเองได้ พิษของโควิด-19 ทำให้มีผู้ว่างงานเป็นจำนวนหลายล้านคนในประเทศไทย ในบรรดาผู้ว่างงานนี้มีหลายครอบครัวที่มีลูกหลานอยู่ ในวัยเรียน และร้อนอกร้อนใจว่าจะหาเงินที่ไหนไปจ่าย ค่าเล่าเรียนของลูก ในอดีตที่ผ่านมาพอเริ่มเปิดเทอม ผู้ปกครองที่ยากจนต้องวิ่งไปกู้หนี้ยืมสิน เอาข้าวของ ไปจำนำ ทั้งนี้ก็เพราะพ่อแม่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาว่าจะช่วยพัฒนาชีวิตของลูกหลานให้ดีขึ้น
ถูกแล้วค่ะ ที่เห็นว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าถึงขนาดต้องกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าเทอม โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะสามารถใช้หนี้ได้เมื่อไร ก็ไม่ต้องให้ลูกหลานไปเรียนในสถานศึกษาในระบบหรอกค่ะ
เราต้องสร้างค่านิยมใหม่ว่า ผู้ที่มีความสามารถในการทำงานและประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาในระบบจากสถานศึกษาชื่อดังเสมอไป เราต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญของชีวิต เรื่องปากท้องของครอบครัวต้องมาก่อน ถ้าลูกกำลังเรียนอยู่ก็สามารถลาพักการศึกษามาช่วยทางบ้านทำมาหากินก่อนได้
ถ้ากำลังเรียนในระดับอุดมศึกษา การลาพักเรียน ยิ่งไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่เรื่องไม่มีจะกินนี่สิถึงตาย ลาพักเรียนมาทำงานสร้างรายได้ก่อน ระหว่างนั้นก็เรียนทาง E-Learning ก็ได้ หรือถ้ายังเรียนมัธยมหรือประถมศึกษา แต่จำเป็นต้องลาเรียนมาช่วยพ่อแม่ แล้วหาเวลาศึกษาด้วยตนเอง พ่อแม่ก็อาจทำหน้าที่เป็นครูสอนให้ถ้ามีความรู้พอ เป็นการเรียนที่บ้านหรือ “Home School” แต่ก่อนที่พ่อแม่จะตัดสินใจทำการสอน ไม่ใช่ว่าจะลงมือทำได้เลย ต้องทำการลงทะเบียน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เพื่อสามารถเทียบวุฒิการศึกษาของการเรียนที่บ้านกับทำงกระทรวงศึกษาธิการได้
ผู้ที่สนใจจะสอนลูกที่บ้านเอง สามารถยื่นขอระเบียบการได้จากสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อทำหลักสูตรสอน โดยมีกติกาว่าวุฒิการศึกษาของผู้ปกครองต้องไม่ต่ำกว่า มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า ซึ่งพ่อแม่หลายรายอาจไม่มีความสามารถมากพอหรือไม่มีเวลาพอจะสอนลูกเอง
มิหนำซ้ำยังต้องอาศัยแรงงานลูกมาช่วยทำงานด้วย แต่ลูกก็ยังมีทางเลือกค่ะ คือพร้อมเมื่อไรก็ไปสมัครเรียนการศึกษานอกระบบห้องเรียนและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยไปขอรายละเอียดได้ที่สำนักงานเขต เสร็จแล้วก็สอบเทียบระดับการศึกษาได้
สรุปก็คือ ชีวิตของเราทุกคนมีทางเลือก ไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องน่าอาย ชีวิตไม่ได้เจอทางตัน ถ้าจังหวะชีวิตของเราไม่อำนวยให้ได้เรียนตามมาตรฐานเหมือนคนอื่นๆ เราก็เลือกเรียนเวลาที่สะดวก ในราคาและสถานที่ที่สะดวก ทำงานไป เรียนไปก็ได้ หรือทำงานก่อนเรียนก็ได้
รัฐบาลควรส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้แพร่หลายก้าวหน้ายิ่งขึ้น ดูจากสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ คงต้องใช้เวลาหลายปีกว่า จะทำให้ประชากรไทยมีความอยู่ดีกินดีอย่างที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แต่นอกจากปัญหาปากท้อง เรื่องของการศึกษาก็เป็นเรื่องที่วางมือไม่ได้
เมื่อประเทศมีคนจนมากขึ้น มีแรงงานว่างงานเพราะขาดคุณสมบัติที่นายจ้างขององค์กรยุคดิจิทัลต้องการ ดิฉันมีความเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถของคนไทย โดยใช้วิธีลัดผ่านการศึกษานอกระบบ และการฝึกอบรมที่รัฐบาลควรแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชนและสถานศึกษาให้จัดหลักสูตรที่สร้างองค์ความรู้และทักษะที่นายจ้างต้องการ (Employability skills) ใช้ เวลาที่รวดเร็วที่สุดและไม่ควรคิดค่าใช้จ่าย วิธีนี้เป็นวิธีที่รัฐบาลประเทศเกาหลีใต้นำมาใช้เมื่อประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว ช่วงที่ต้องการพัฒนาประเทศเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน จะพึ่งการศึกษาตามระบบคงไม่ทันการณ์แน่ค่ะ