‘โควิด-19 กลายพันธุ์’ อุปสรรคร้ายต่อ 'พัฒนาวัคซีนต้านไวรัส'
"นักวิจัยสหรัฐ" ชี้ โควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นอุปสรรคร้ายต่อการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส
นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลาโมส (แอลเอเอ็นแอล) หนึ่งในห้องปฏิบัติการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก สังกัดกระทรวงพลังงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อกว่า 4 เดือนที่แล้ว ได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้ไวขึ้นและกำลังระบาดหนักในสหรัฐ
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ลอส อลาโมส ความยาว 33 หน้า ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ bioRxiv(ไบโออาร์ไคฟ) คลังเอกสารวิชาการออนไลน์ด้านชีววิทยา ระบุว่าไวรัสโคโรน่าที่กลายพันธุ์เริ่มการแพร่ระบาดในยุโรปช่วงต้นเดือน ก.พ. ก่อนที่จะลุกลามไปยังภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงสหรัฐ แคนาดา และได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่พบในหลายประเทศทั่วโลกภายในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
นักวิจัยกำลังจับตาว่า ไวรัสชนิดนี้จะอ่อนกำลังลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ในช่วงฤดูร้อนเหมือนกับไวรัสโคโรน่าที่ทำให้เกิดโรคหวัดตามฤดูกาลหรือไม่ หรือจะกลายพันธุ์ต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ทำให้เกิดข้อจำกัดเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19ที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนากันอยู่ เนื่องจากนักวิจัยวัคซีนส่วนหนึ่งใช้ลำดับพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าในช่วงแรก ๆ ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดตั้งต้น เพื่อประโยชน์ด้านการพัฒนาวัคซีน
เบตต์ คอร์เบอร์ นักชีววิทยาของแอลเอเอ็นแอล ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานผลการศึกษากล่าวว่า แม้เรื่องนี้จะเป็นข่าวเชิงลบก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะทีมนักวิจัยแอลเอเอ็นแอล ได้เก็บบันทึกข้อมูลการกลายพันธุ์นี้ไว้หมดแล้ว รวมทั้งผลของการกลายพันธุ์ที่มีต่อการแพร่ระบาด และความร่วมมือระหว่างบรรดานักวิจัยในห้องปฏิบัติการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้มีการศึกษา ติดตาม และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลำดับพันธุกรรมใหม่ของไวรัสชนิดนี้ ได้อย่างรวดเร็ว และเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ นักวิจัยยังเตือนว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเร่งด่วน เนื่องจากกำลังมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อต้านโควิด-19 มากกว่า 100 โครงการทั่วโลก
มีรายงานว่า เมื่อต้นเดือน มี.ค. นักวิจัยของจีนก็ออกมาระบุว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดอยู่ ถูกตรวจพบว่ามี 2 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน ในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งและสถาบันปาสเตอร์ในเซี่ยงไฮ้ เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ชี้ว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อได้รวดเร็วขึ้นนั้น มีสัดส่วนราว 70% ของทั้งหมดที่ถูกนำมาวิจัย และเป็นสายพันธุ์ที่ออกอาการรุนแรงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต พบมากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหม่ ๆ ในเมืองอู่ฮั่น
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยของแอลเอเอ็นแอล ได้ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดยุค และมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์จากประเทศอังกฤษ ทำการวิเคราะห์วิจัยลำดับพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าอีกหลายพันสายพันธุ์ และจนถึงขณะนี้พบว่า มี14 สายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งมีผลต่อสไปค์โปรตีน (spike protein) ซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัสและเป็นกลไกที่นำพาไวรัสเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิต สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์และแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนให้เกิดขึ้นในเร็วนี้