'เพื่อไทย' อัดรัฐทำโพล เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ แค่ซื้อเวลา

'เพื่อไทย' อัดรัฐทำโพล เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ แค่ซื้อเวลา

"อนุสรณ์" สวนรัฐบาลทำโพลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ แค่ซื้อเวลา เชื่อยื้อใช้กฎหมายพิเศษเพื่อคุมอำนาจ

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะให้ กอ.รมน. ทำโพลสอบถามความคิดเห็นของประชาชนว่าควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ว่า ไม่แน่ใจว่าใครเขียนบทให้ พล.อ. ประยุทธ์ พูด ลำพังได้ยินว่าจะให้ กอ.รมน.ทำโพล ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะให้ กอ.รมน.มาทำโพลหรือทำไอโอกับประชาชนกันแน่ ที่ผ่านมา กอ.รมน.ถูกตั้งคำถามมาตลอดว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เป็นการกระชับอำนาจ ตัดตอนรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล ป้องกันไม่ให้ประชาชนเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยิ่งคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้นานเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งได้ประโยชน์ การให้ กอ.รมน.ทำโพลจึงเป็นเพียงการซื้อเวลา กลบปัญหาการเยียวยาล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ กลบปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องหลบข้างหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงจากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ดีของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จะเอากรณีโควิด มาปกปิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจโดยการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ตลอดไปไม่ได้

“ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ จำนวนมากว่าต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการทำโพลให้เป็นที่ยอมรับ ควรทำโดยสถาบันทางวิชาการที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้ " นายอนุสรณ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ห้ามนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างนัดหยุดงานทั่วราชอาณาจักร ว่า ดูเหมือนรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาผิด ยึดเอาความมั่นคงของรัฐบาล ก่อนความอยู่รอดของประชาชน ความจริงก่อนจะออกประกาศห้ามนายจ้างปิดงาน ลูกจ้างนัดหยุดงาน รัฐบาลควรเยียวยาประชาชนภาคแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการล็อกดาวน์ที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำอย่างไรที่จะให้ภาคแรงงานเข้าถึงการเยียวยาอย่างครอบคลุมทั่วถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปล่อยลอยแพประชาชนไม่ได้



นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องตอบคำถามว่าจะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมมาเยียวยาผู้ประกันตนอย่างไร การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนในอัตราร้อยละ 62 ที่มีการเสนอให้เพิ่มเป็นร้อยละ 75 นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่ ลำพังการโทษระบบคอมพิวเตอร์เก่า โทษนายจ้างไม่รับรองสิทธิ์ฟังไม่ได้ เพราะมีผู้ประกันตนจำนวนมากที่นายจ้างรับรองสิทธิ์ส่งเรื่องไปตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน

“รัฐบาลจะยึดเอาความมั่นคงของตัวเองเป็นหลัก แล้วละทิ้งผู้ประกันตนไม่ได้ รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหาให้ถูก เร่งเยียวยาให้ครอบคลุม ทั่วถึง ก่อนที่ประชาชนจะอดตาย” นายอนุสรณ์ กล่าว