'พีทีทีจีซี' รีวิวแผนลงทุนโครงการใหม่

'พีทีทีจีซี' รีวิวแผนลงทุนโครงการใหม่

พีทีทีจีซี” เตรียมทบทวนแผนลงทุนโครงการใหม่ หลังโควิด-19 ทำสถานการณ์เศรษฐกิจเปลี่ยน รับเลื่อนสรุปตัดสินใจลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์สหรัฐเป็นปี64 หั่นงบค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นปีนี้ 1,000 ล้านบาท มั่นใจปริมาณขายทั้งปียังโต 7-10%

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัท เตรียมแผนขับเคลื่อนธุรกิจหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยจัดลำดับความสำคัญการดำเนินงานใหม่ ดังนี้ 1.มุ่งเน้นความปลอดภัยของพนักงาน 2.ดูแลความมั่นคงขององค์กร 3.การช่วยเหลือสังคม และ4.การสร้างความชัดเจนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

  158988554357

โดยเรื่องความมั่นคงขององค์กรนั้น จะต้องทบทวนแผนการลงทุนโครงการใหม่ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังโควิด-19 เช่น โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท จะเลื่อนสรุปการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID)ออกไปเป็นปีหน้า จากเดิมคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 3/2563

รวมถึง แผนขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) เพิ่มเติมอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เดิมมีโครงการที่ศึกษาความเป็นไปได้ชัดเจนแล้วประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ก็จะต้องนำมาทบทวนใหม่ จากก่อนหน้านี้ บริษัท มีการลงทุนใน EEC ไปแล้ว 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท คือ 1.โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต Olefins Reconfiguration Project (ORP) 2.โครงการโพรพิลีนออกไซด์ (Propylene Oxide :PO) และ3. โครงการโพลีออลส์ (Polyols) ซึ่งทั้ง 3 โครงการ จะก่อสร้างเสร็จในไตรมาส 3- 4 ปีนี้ โดยขณะนี้ การก่อสร้างคืบหน้าแล้วประมาณ 91-92%

 

“ทุกโครงการลงทุนใหม่ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะต้องนำมาทบทวนใหม่ทั้งหมด โดยจะดู 2 เรื่องหลัก คือ ต้นทุนการผลิต และดีมานด์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจหลังโควิด ขณะที่แผนเข้าซื้อกิจการ M&A ก็ต้องทบทวนโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ และบริษัท ยังต้องดูของ “ความปกติใหม่” หรือ New Normal ด้วย”

นอกจากนี้ บริษัท ยังมีแผนเพิ่มสภาพคล่อง โดยเตรียมขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ ในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ พิจารณาแผนออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 1.28 แสนล้านบาทภายในกรอบระยะเวลา5ปี (ปี 2563-2567)เพื่อรักษาระดับกระแสเงินสด จากปัจจุบัน บริษัทมีเงินสดในมือ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ยังได้ออกหุ้นกู้ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท และจะเงินกู้จากสถาบันการเงินอีก 3 หมื่นล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม การออกหุ้นกู้ และการกู้เงินดังกล่าว เพื่อต้องการรักษาระดับกระแสเงินสดไว้ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติ และหากย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน บริษัทฯ เคยมีกระแสเงินสดในระดับ 7-8 หมื่นล้านบาท และ ปัจจุบันD/Eเพียง 0.3 เท่า จึงมีความสามารถในกู้ได้อีกมาก อีกทั้งในปีนี้ บริษัท ยังมีแผนปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น 1,000 ล้านบาท

 

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่า สถานการณ์ในช่วง ไตรมาส2- ไตรมาส 4 จะดีขึ้นจากไตรมาส 1 โดยไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่า ภาพรวมธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจาก ดีมานด์จะเริ่มฟื้นตัว เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ดังนั้น ในปี 2563 บริษัท คงเป้าปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ปีนี้โต 7-10% ตามปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อมบำรุงเหมือนปีก่อน แม้ว่าไตรมาส 1/2563 ยอดขายอาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังมั่นใจว่าภาพรวมทั้งปีนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย