วิธีแก้ 'ปฐมวัย' ที่ไม่พร้อมเรียนออนไลน์ได้อย่างไร
ผ่านไป 2 วัน สำหรับการทดลองเรียนออนไลน์ ทั้งผ่านทีวีดิจิทัล เว็บไซต์ และ ช่องยูทูป DLTV ซึ่งยังพบว่ามีความไม่พร้อม และอุปสรรคต่างกันในแต่ละช่วงชั้น สำหรับช่วงปฐมวัยจำเป็นต้องมีผู้ปกครองคอยช่วยจัดกิจกรรม และเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ มากกว่าการเรียนผ่านจอ
กลายเป็นว่า ความไม่พร้อมของการทดลองเรียนออนไลน์ ผ่านช่องทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นปัญหาเรื่องระบบ เนื้อหาของหลักสูตรบางระดับที่ไม่ต่อเนื่อง และความไม่พร้อมของครอบครัวนักเรียนชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ และอินเตอร์เน็ตทำให้เป็นอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ที่การเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาต้องมีพี่เลี้ยงหรือผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ ขณะที่พ่อแม่-ผู้ปกครองต้องออกไปทำงาน เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและอุปสรรคในการเรียนทางไกลและการสอนออนไลน์
ที่ผ่านมาสังคมไทยรับรู้มาตลอดว่าเด็กไทยเกิดมาอายุถึงเกณฑ์ต้องไปโรงเรียน เพราะสถานที่สอนหนังสือคือโรงเรียนและเป็นหน้าที่ของครูในการสอนหนังสือ พ่อแม่มีหน้าที่หาเงิินส่งเสียลูกไปโรงเรียน หลายครอบครัว พ่อแม่ไปทำงานนอกบ้าน การเลี้ยงดูลูกฝากไว้กับพี่เลี้ยง ปู่ ย่า ตา ยาย ฉะนั้นหน้าที่การสอนหนังสือลูก เป็นโค้ช หรือผู้ช่วยสอนให้กับทางโรงเรียนโดยเฉพาะเด็กชั้นอนุบาลตามนิยาม การเรียนรู้แบบใหม่ ไม่ง่ายนักที่หลายครอบครัวจะทำได้
รศ. ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู อาจารย์ประจำสาขาวิชาปฐมวัยศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าตารางเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัย ซึ่งมีทั้งวัน โดยแบ่งช่วงกิจกรรม มองว่าไม่จำเป็นต้องให้เด็กเรียนเหมือนในโรงเรียน แต่ให้เป็นในลักษณะกิจกรรมสำคัญเลือกมาในแต่ละวัน และใช้เวลาไม่นาน สามารถต่อยอดในการทำกิจกรรมที่บ้านได้จะดีกว่า ไม่ใช่การนั่งหน้าจอและเรียนรู้ผ่านครูอย่างเดียว
นอกจากนี้ ควรมีสื่ออุปกรณ์ให้เด็กได้หยิบจับ สัมผัส ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อเป็นการต่อยอด มากกว่าแค่ให้เด็กเฝ้ามองว่าเกิดการเรียนรู้อะไรในห้องเรียนที่อยู่ในจอ สำหรับบ้านที่ไม่พร้อม เช่น ไม่มีทีวี อินเทอร์เน็ต โรงเรียนอาจจะจัดชุดสื่ออุปกรณ์ให้ และมีรายการกิจกรรมที่พ่อแม่สามารถเลือกทำกับเด็กได้ และยืดหยุ่นเวลา
“โรงเรียนควรจัดเป็นชุดอุปกรณ์ให้ที่บ้านและมีคู่มือการใช้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่ครูปฐมวัย ซึ่งรู้จักเด็กๆ อยู่แล้ว น่าจะออกแบบชุดอุปกรณ์พวกนี้ได้ หรือเรื่องการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาจจะมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ใช้วัสดุรีไซเคิล การทิ้งขยะให้ถูกวิธี ควรจะเป็นกิจกรรมในลักษณะแบบนี้มากกว่า ช่วงเวลา 40 วันนี้ สำคัญมากเราควรใช้โอกาสนี้พัฒนาเขา ให้ตรงกับบริบทที่เขาเป็นอยู่”
"การออนไลน์น่าจะเน้นไปที่การสื่อสารกับผู้ปกครองสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง มากกว่า และเชื่อมต่อกับกิจกรรมที่เขาทำในแต่ละวันได้ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสม ในบริบทที่แตกต่างในแต่ละบ้าน หากในออนไลน์ ควรให้เขามีกิจกรรมออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกายจะดีมาก" รศ. ดร.อรพรรณ กล่าว
จิตรเลขา พุฒเขียว อายุ37 ปีคุณแม่น้องแพร วัย 4 ขวบ ชั้นอนุบาล 2 กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่การประชาสัมพันธ์ช่องทางในการรับชมอาจจะยังไม่ชัดเจน น่าจะมีช่องทางที่จะสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุเข้าใจมากขึ้น และอีกปัญหาหนึ่ง คือ การที่ผู้ปกครองต้องทำงาน บางคนไม่มีเวลาในการนั่งเรียนพร้อมกับลูก จึงต้องให้คุณย่าเป็นผู้เปิดทีวีให้ดูแทน ซึ่งก็ต้องสอนและแนะนำวิธีการเปิด โดยทางโรงเรียนของลูกได้มีการสอบถามความพร้อมของแต่ละบ้าน ผ่านช่องทางไลน์กลุ่ม และครูวางแผนที่จะเยี่ยมบ้าน
“ทั้งนี้ ในการทดลองเรียนออนไลน์ 2 วันที่ผ่านมา เด็กๆ ให้ความสนใจบ้างหากเป็นการร้องเพลง เต้น แต่หากเป็นชั่วโมงที่ต้องมีการประดิษฐ์ ต้องใช้อุปกรณ์ ซึ่งบางทีที่บ้านอาจจะไม่พร้อม ไม่ได้จัดหาอุปกรณ์มาตรงกับการเรียนการสอนในชั่วโมงนั้นๆ ทำให้เด็กมีความสนใจแค่ชั่วคราว ซึ่งแตกต่างจากเด็กชั้นประถมและมัธยมที่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ดังนั้น ที่บ้านจึงจัดหาอุปกรณ์การเล่น รวมถึงพาทำกิจกรรมในเวลาว่าง เช่น ระบายสี อ่านหนังสือ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายในบ้าน เพื่อเป็นการเสริมทักษะเพิ่มเติม” นางจิตรเลขา กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนบางบ้านไม่สามารถดูผ่านทีวี ไม่มีทีวีดู และไม่มีอินเตอร์เน็ตไว้ใช้เรียนอย่างเช่นที่ โรงเรียนบ้านท่าหลวงตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพราะฐานะทางบ้านยากจน ทำให้ขาดโอกาสได้เรียนหนังสือ ครูผู้สอนจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้เด็กนักเรียนที่ไม่มีทีวีดู มานั่งเรียนร่วมกันกับบ้านเพื่อนที่มีทีวี จะได้มีโอกาสเรียนหนังสือผ่านจอทีวีไปพร้อมๆกัน แต่จะจัดให้มีการนั่งเว้นระยะห่างกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพบว่า เด็กๆส่วนใหญ่กลับชอบนั่งเรียนพร้อมกันกับเพื่อนๆ มากกว่าปล่อยให้นั่งเรียนอยู่คนเดียว ซึ่งทำให้บางคนไม่ตั้งใจเรียน แต่เมื่อมานั่งเรียนพร้อมกับเพื่อน ทำให้มีสมาธิ ไม่เหงา และทุกคนตั้งใจเรียน
ขณะเดียวผู้ปกครองต้องการให้นักเรียนระดับปฐมวัยกลับมาเรียนที่โรงเรียน เพราะหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ดีขึ้น เนื่องจากรับภาระไม่ไหวโรงเรียนอาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียนมากขึ้นจากเดิม นักเรียน 20 คน ต่อครู 1 คน ต้องปรับเป็น นักเรียน 7 คน ต่อครู 1 คน หรือนักเรียน 20 คน ต่อ ครู 3 คน เป็นไปได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะหาผู้ช่วยครูมาดูแลนักเรียน
โดยคัดเลือกจาก ครูระดับปฐมวัยที่สอบและบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู ผู้ช่วย แต่ยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งแต่ได้ขึ้นบัญชีเอาไว้รอการบรรจุประมาณ 10,000 คนมาทำงานชั่วคราวเป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้รับอัตราเงินเดือน ๆ ละ 9,000 บาท ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีงบประมาณดำเนินการ 500 ล้านบาท
ส่วนเรื่องขอความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตในกรณีการเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ทางโทรศัพท์มือถือ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) บอกว่ายินดีช่วยเหลือในเรื่องติดขัดที่สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องขอหารือในรายละเอียด หากในพื้นที่ที่ไม่มีโครงข่ายของสองรัฐวิสาหกิจคือทีโอทีและกสทฯ ต้องพิจารณาดูว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไร ซึ่งดีอีเอสต้องหารือกับกสทช.เพื่อหารือกับเอกชนต่ออีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านของประเทศไทยนั้น โดยรวมมีจำนวน 7.7 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็น แคทจำนวน 2 แสนครัวเรือน, ทีโอทีจำนวน 1.5 ล้านครัวเรือน, บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี จำนวน 2 ล้านครัวเรือน และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กว่า 3 ล้านครัวเรือน และเอไอเอส ไฟเบอร์ราว 1 ล้านครัวเรือน