รู้ชัด ‘เงินเยียวยา’ สำหรับ 'กลุ่มตกหล่น' คือกลุ่มไหนกันแน่?
เปิดนิยาม "กลุ่มตกหล่น" 3 กลุ่ม ที่กระทรวงการคลังพิจารณาการช่วยเหลือมอบ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท ให้เพิ่มเติมในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งต้องเกาะติดข่าวอัพเดทความเคลื่อนไหวเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งคำถามคาใจที่ยังมีหลายคนสงสัยเกี่ยวกับการลงทะเบียนรับ "เงินเยียวยา" 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ก็คือ ได้ลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกันไปแล้ว และเมื่อเข้าไปตรวจสอบสถานะในระบบ บ้างก็พบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง, บ้างก็มีข้อความว่า "ไม่สามารถทำรายการต่อได้" , บ้างก็พบว่ายังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูล ฯลฯ ถ้าเจอข้อความขึ้นแบบนี้ควรไปต่อยังไงดี?
คำตอบคือ ให้คุณติดต่อร้องทุกข์ไปที่ธนาคาร โดยกระทรวงคลังได้เปิดให้มีการร้องทุกข์ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ในวันเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 18 -29 พ.ค. 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ยังเดือดร้อน แต่ขอร้องให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวดด้วย
หรืออีกอย่างคือ คุณอาจจะอยู่ใน "กลุ่มตกหล่น" ที่ทางรัฐบาลกำลังดำเนินการเยียวยาเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ จ่อคิวมอบ "เงินเยียวยา" ต่อจากกลุ่มอาชีพอิสระและกลุ่มเกษตรกร โดย ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกัน เพิ่มเติม โดยมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ไปจัดทำแนวทางช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นดังกล่าว ซึ่งมีการเสนอใช้เงินจำนวน 39,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มตกหล่นดังกล่าวมีนิยามใน 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
1. กลุ่มเปราะบาง
หมายถึง กลุ่มผู้พิการ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนไร้บ้าน โดยในเบื้องต้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางแน่นอนแล้ว 13 ล้านคน โดยแจกเงินให้คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เช่น เดิมได้รับเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท และผู้สูงอายุจะได้เพิ่มจากเบี้ยอีกคนละ 1,000 บาท ขณะที่คนไร้บ้านจะไม่แจกเป็นเงินแต่จะช่วยหาที่พักอาศัย และอาหารการกินให้แทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
2. กลุ่มคนชายขอบ
หมายถึง กลุ่มประชาชนในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มคนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต กลุ่มบุคคลล้มละลาย ซึ่งกลุ่มนี้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. ก็รับหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลคนกลุ่มนี้เช่นกัน
3. กลุ่มเครือข่ายวัฒนธรรมและกีฬา
หมายถึง กลุ่มอาชีพ ลิเก ลำตัด ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมรับหน้าที่ในการดูแล โดยเริ่มทำการสำรวจและรวบรวมรายชื่อมาแล้ว และกำลังดำเนินการต่อไป และกลุ่มบุคลากรทางการกีฬาอย่าง นักกีฬา นักมวย เป็นต้น โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารับหน้าที่ดูแล ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจช่วยเหลือเหมือนกับเงินเยียวยากลุ่มอาชีพอิสระเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน แต่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาหรือการช่วยเหลือซ้ำซ้อนจากโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน"
*หมายเหตุ: กลุ่มตกหล่นนี้ไม่นับรวมนักศึกษาจบใหม่ แม่ค้าออนไลน์ ข้าราชการบำนาญ และคนว่างงานอยู่เดิม เนื่องจากไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและสามารถหางานทำได้ โดยมีตำแหน่งงานว่างมากถึง 100,000 ตำแหน่งงาน
นอกจากนี้มีรายงานประมาณการณ์ประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553 – 2583 ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยพบว่าในปี 2563 ประชากรของไทยมีจำนวนทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งเป็น
1. วัยเด็ก (แรกเกิด - 14 ปี) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรเด็ก 11.2 ล้านคนหรือ 16.9% ของประชากรทั้งหมด
2. ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ในปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน หรือ 18% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
3. ประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) ในปี 2563 มีวัยแรงงานประมาณ 43.26 ล้านคน หรือ 65% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
โดยสรุปคือ ในปี 2563 มีวัยแรงงาน 3.6 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน และประชากรผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 80.4 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 73.2 ปี
4. ประชากรคนพิการ ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ระบุว่า มีคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2,027,500 คน หรือคิดเป็น 3.05% ของประชากรทั้งประเทศ (อ้างอิงจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) แบ่งเป็นคนพิการเพศชาย จำนวน 1,058,405 หรือ 52.20% และเพศหญิง จำนวน 969,095 คน หรือ 47.80%
----------------------
อ้างอิง:
https://www.bangkokbiznews.com