วงจรชีวิต 2 ปี กับ COVID-19
เมื่อมีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โควิด-19 อาจอยู่ยาวไปถึง 2 ปีข้างหน้า และแนวโน้มในอนาคตก็จะเข้าสู่ความปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดและติดตามว่าวงจรวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกจะเป็นอย่างไร เมื่อต้องใช้ชีวิตท่ามกลางโควิด-19
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ที่ระบาดในช่วงที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบัน ผมคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้จะคงอยู่ยาวนานอาจถึงราว 2 ปี และมีแนวโน้มจะส่งผลทำให้สถานการณ์กลายเป็น new normal หรือความปกติใหม่ในอนาคต อันส่งผลกระทบเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน ด้วยเหตุผลสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1) การปิดพื้นที่ระดับจุลภาคจะไม่ได้ผล เพราะการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสยังมีโอกาสเกิดในพื้นที่ที่ไม่ถูกปิด ส่งผลทำให้ปัญหายืดเยื้อ
2) การไม่มีความร่วมมือกันในระหว่างประเทศเท่าที่ควร สาเหตุที่สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกและมีคนติดเชื้อเป็นจำนวนมากเกิดจากคนเดินทางมาจากต่างประเทศนำเชื้อเข้ามาในประเทศ แต่ปัจจุบันในระดับโลกยังไม่มีการเจรจาตกลงถึงแนวทางการจัดการสถานการณ์ดังกล่าวนี้ร่วมกัน แม้ภาคปฏิบัติจะมีความพยายามช่วยเหลือกันบ้าง แต่เป็นลักษณะการจัดการที่ปลายเหตุ เช่น การให้หน้ากากอนามัย การให้ชุดตรวจ เป็นต้น
3) การผลิตวัคซีนป้องกันต้องใช้ระยะเวลานาน ความสามารถในการผลิตและนำวัคซีนมาใช้โดยปกติต้องอาศัยเวลาในการศึกษาวิจัยและทดลองเป็นระยะเวลาร่วมปี และประมาณปีครึ่งถึงสองปีกว่าจะผลิตเพื่อนำมาใช้ในวงกว้างได้ ดังนั้นแม้เราสามารถจัดการสถานการณ์ภายในประเทศได้ดี แต่เมื่อยังไม่มีวัคซีนป้องกันและสถานการณ์ในต่างประเทศทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประเทศเราด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเราเปิดประเทศอีกครั้ง
4) การใช้ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติใช้เวลานานและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แนวคิดดังกล่าวนี้เกิดมาจากข้อเสนอของรัฐบาลอังกฤษในช่วงต้นๆ ของการระบาดว่าจะต้องปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศติดเชื้อไวรัส เพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ อันจะส่งผลช่วยปกป้องคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันและป้องกันการระบาดซ้ำ เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดระยะยาว อันนำสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ตามการนำเสนอของ บีบีซี นิวส์ ประเทศไทย (https://www.bbc.com/thai/51911994)
ขณะที่แหล่งข่าวเดิมยังระบุเพิ่มเติมว่า นักวิชาการจากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ (https://www.bbc.com/thai/51982927) ถึงกระนั้นหากจะมีการนำแนวทางภูมิคุ้มกันหมู่ดังกล่าวนี้มาใช้จริงในภาคปฏิบัติ ก็ยังมีความจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะวิธีภูมิคุ้มกันหมู่ระบาดทั่วประเทศ จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเกินกว่าวิญญูชนจะรับได้
5) ระยะเวลาการระบาดของโรคในอดีตโดยเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2 ปี นับเฉพาะการระบาดช่วงระหว่าง 1-5 ปี แต่การระบาดที่ยาวนานมากที่สุดคือ การระบาดใหญ่ของอหิวาตกโรค (Cholera Pandemics 1-6) ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1817-1923 ยาวนานมากกว่า 100 ปี รองลงมาคือ การระบาดของเฮชไอวี/เอดส์ (HIV/AIDS) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 จนกระทั่งปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 39 ปี ตามการนำเสนอของ นิโคลัส เลอแปง (Nicholas LePan) ผ่านบทความที่ชื่อว่า ประวัติศาสตร์ของการระบาดใหญ่ (History of Pandemics) (https://www.visualcapitalist.com/history-of-pandemics-deadliest/)
จากการวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์ โควิด-19 มีแนวโน้มระบาดอยู่ในช่วงประมาณ 2 ปี ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางการแพทย์และวัคซีนที่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก
6) ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดจากกลุ่มผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ ปัจจุบันสามารถแบ่งผู้ติดเชื้อออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ (pre-symptomatic) กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อแล้วและจะไม่แสดงอาการ (Asymptomatic) กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อและแสดงอาการแล้ว (symptomatic) และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาหายแล้ว จากเดิมที่มีอาการ (Post-symptomatic) แต่ยังได้รับเชื้อจากคนอื่นได้และแพร่เชื้อคนอื่นได้
6.1) ชุดตรวจหาเชื้อ (test kit) ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างแพร่หลายด้วยว่าปัจจุบันยังมีปัญหาเช่น ความไม่สะดวก ไม่สามารถตรวจหาเชื้อเองได้ การแปลผลการตรวจยังไม่มีความแม่นยำ มีทั้งที่เป็นผลลบปลอม (false negative) และผลบวกปลอม (false positive) ราคาแพงทำให้เข้าถึงได้จำกัดและไม่สามารถตรวจได้บ่อยให้ทันกับการกระจายของโรค เป็นต้น
6.2) เหตุผลความจำเป็นทางเศรษฐกิจและปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยว่าระบบเศรษฐกิจจะถดถอยหนัก ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเลือก (trade off) ระหว่างการยอมให้มีคนติดเชื้อบ้างกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งในภาคปฏิบัติหากไม่ทำเบ็ดเสร็จตั้งแต่แรก หรือ “ครึ่งบกครึ่งน้ำ” ตามที่ผมนำเสนอในช่วงกลางเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา ทุกประเทศ (ไม่เฉพาะประเทศไทย) จะเผชิญกับสถานการณ์ยืดเยื้อ ดังนั้น การจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดจึงทำได้ยากมาก อาจใช้เวลาถึง 2 ปี
ในต้นเดือนมีนาคมปี ค.ศ.2020 ผมจึงขอนำคำว่า new normal หรือความปกติใหม่ มาใช้ในสถานการณ์โควิด-19 อย่างเป็นทางการ ความยืดยาวของปัญหา ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไป และผมนำเสนอว่าในอนาคต เราต้องใช้คำว่าความปกติใหม่ เพิ่มเติมกับสถานการณ์ภัยพิบัติจากโรคระบาดต่างๆ (PANDEMIC) ซึ่งจะเกิดถี่ขึ้นกว่าอดีต อันเกิดจากความเชื่อมโยงมนุษย์หมดโลกอย่างทั่วถึงผ่านความสะดวกในการเดินทางด้วยเครื่องบิน ฯลฯ
สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักและระมัดระวังตัวเองทางด้านสุขภาพ การดูแลสุขอนามัย การให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสุขภาพ รู้จักนำความรู้ทางด้านสุขภาพมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต
ขณะที่การดำเนินนโยบายของรัฐในช่วงระหว่าง 2 ปีนี้ นอกจากการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคแล้ว การนำมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู ผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อันเป็นผลจากการระบาดของโรคมาใช้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น
สุดท้ายนี้ จึงอยากทิ้งท้ายด้วยข้อคิดของผมเกี่ยวกับแนวโน้มความปกติใหม่ในช่วงระยะเวลาราว 2 ปีนี้ ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดูดีขึ้น คนในสังคมเริ่มตระหนัก ยอมรับ และปรับตัวกันมากขึ้น หากแต่ละคนปรับตัวได้ไวจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติใหม่ได้เร็วขึ้น