สมช. ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คลายล็อคเฟส 3 ต้นเดือนมิ.ย.

สมช. ถกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คลายล็อคเฟส 3 ต้นเดือนมิ.ย.

สภาความมั่นคงฯ จ่อประชุมพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - มาตรการคลายล็อคเฟส 3 คาดเริ่มช่วงเดือน มิ.ย. ยึดความปลอดภัยควบคู่เศรษฐกิจ ขณะที่ กทม. ถกมาตรการวางแนวปฏิบัติ “หน่วยงานขนส่ง” ล่าสุดไทยพบติดเชื้อใหม่เพิ่ม 1 ราย

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพทยระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เปิดเผย วานนี้ (20 พ.ค.) ว่า หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 ให้สามารถดำเนินกิจกรรมและกิจการ ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในเกณฑ์ปานกลาง แต่มีผลทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ และจะประเมินผลก่อนที่จะนำไปสู่การพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะ 3 ต่อไป โดยคาดว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ช่วงใกล้ครบเวลา 14 วันหลังผ่อนคลาย ดังนั้น การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 คาดว่าอาจจะใช้ได้ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ การจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆจะต้องพิจารณาให้อยู่ในเกณฑ์เรื่องความปลอดภัยตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข ควบคู่ไปกับเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหลักคิดตั้งแต่เริ่มต้นในการผ่อนปรนมาตรการ และต้องรอฟังความเห็นจากทางกระทรวงสาธารณสุข ประกอบกันด้วย

22 พ.ค.ถกขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เลขาฯ สมช. ระบุด้วยว่า ส่วนเรื่องการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 3 นั้น จะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ที่จะครบกำหนดใช้ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ โดยจะต้องมีความสอดคล้องกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้ สมช.จะมีประชุมในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เวลา 11.00 น.ว่า จะมีการจะขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่โดยคาดว่าจะได้ผลสรุปเบื้องต้น จากนั้นจะเสนอตามขั้นตอนต่อไปโดยเสนอต่อ ศบค.ชุดใหญ่ และครม.พิจารณาต่อไป ทั้งการผ่อนปรนระยะที่ 3 และการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการผ่อนปรนมาตรการในระยะที่ 1 และ 2 พบว่าประชาชนมีความเคร่งครัดและให้ร่วมมือ ส่งผลให้ตัวเลขการติดเชื้อภายในประเทศ และการปฎิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่กังวลคือการติดเชื้อจากภายนอกประเทศ ที่ต้องหามาตรการและแนวทางที่เหมาะสมรองรับก่อนที่จะมีการทยอยเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศ

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบกิจการบางประเภท อาทิ นวดแผนโบราณ รวมถึงสถานบันเทิง ผับ บาร์ ที่เรียกร้องขอให้มีการผ่อนปรน นั้น พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็มีความรู้สึกเห็นใจในทุกกิจการกิจกรรม ซึ่งตนก็รับฟัง แต่จะต้องมีการพิจารณาเพื่อหาแนวทางต่างๆโดยปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ และอยู่ภายใต้หลักการ ที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้น เพราะจะมีผลทำให้การป้องกันลำบากมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการก็จะต้องมีแนวทางและปรับตัวการประกอบธุรกิจของตัวเองด้วย

กทม.ถกมาตรการหน่วยงานขนส่ง

วันเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการป้องกันโควิด-19 ร่วมกับผู้แทนกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRT) บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมทุกหน่วยงานได้นำเสนอมาตรการและแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด โดยพบว่าทุกภาคส่วนมีจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างชัดเจน และมีมาตรการผ่อนปรน เริ่มมีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งทุกหน่วยงานได้เพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing เป็นสำคัญ รวมทั้งการจัดจุดคัดกรอง และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่จัดเตรียมไว้ รวมทั้งใช้ระบบการจ่ายเงินออนไลน์มากขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชน หน่วยงานที่ดูแลขอให้ผู้ประกอบการเคร่งครัดมาตรการเว้นระยะห่าง การเพิ่มเที่ยวเดินรถหรือเรือ และการดูแลรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ภายหลังการประกาศมาตรการผ่อนปรนโดยหน่วยงานภาครัฐ พบว่าการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดโดยเฉพาะเรื่องการเว้นระยะห่าง Social Distancing ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจากการหารือร่วมกันทุกหน่วยงานเห็นว่ามาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing เป็นสิ่งสำคัญและยินดีให้ความร่วมมือตามข้อกำหนด

จี้หน่วยงานรัฐ-เอกชนเหลื่อมเวลา

ทั้งนี้ หน่วยงานได้เสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการเหลื่อมเวลาการทำงานมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าจะมีนัยสำคัญต่อการแพร่ระบาดของโรค เพื่อเฉลี่ยจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งการกำหดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดผู้โดยสารต่อเที่ยวและการเพิ่มความถี่ในการบริการมากขึ้นและขอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยบริเวณป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า ตามมาตรการเว้นระยะห่าง

“กทม.ได้ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาวางแผนเพื่อรองรับมาตรการผ่อนปรนในระยะต่อไป อาทิ การควบคุมจำนวนผู้โดยสารให้พอเหมาะกับมาตรการ Social Distancing การพิจารณากำหนดจำนวนผู้โดยสารก่อนเข้าใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ภายในรถโดยสารสามารถปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing รวมถึงจัดระเบียบผู้โดยสารบริเวณสถานี การขึ้นลงจุดยืนรอ การขอความร่วมมืองดการพูดคุยและใช้โทรศัพท์ระหว่างโดยสาร รวมทั้งการดูแลผู้โดยสารในช่วงหน้าฝน เพื่อไม่ให้มีประชาชนตกค้าง โดยอาจเพิ่มความถี่ด้วย” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ศบค.พบติดเชื้อรายวันเพิ่ม1ราย

ขณะที่สถานการณ์โควิดล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แถลงพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย อยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ในกรุงเทพมหานคร เพศชายอายุ 45 ปี อาชีพเชฟร้านอาหารไทย เดินกลับจากประเทศบาเรน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 โดยไม่มีอาการแต่ตรวจเจอเกิดขึ้นจากระบบของการตรวจสอบผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยที่มีการตรวจเช็คการติดเชื้อเป็นระยะ

ทั้งนี้ มีผู้เดินทางมาจากประเทศบาเรนแล้วทั้งสิ้น 238 ราย มีผู้ติดเชื้อ 2 ราย ภาพรวมประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,034 ราย รักษาหายแล้ว 2,388 ราย ยังรักษาในรพ. 90 ราย และเสียชีวิตสะสม 56 ราย.