'การฟื้นฟูกิจการ' SMEs เพื่อผ่านพ้น 'วิกฤติเศรษฐกิจ' ยุค COVID-19
เปิดแนวทาง "ฟื้นฟูกิจการ" สำหรับกลุ่ม SMEs ไทย ทำอย่างไรให้รอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ก่อนจะต้องตกอยู่ในสถานะเป็นบุคคลล้มละลาย
ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อันเนื่องมาจากการเกิดโรคระบาด Covid-19 ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรูปแบบใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจของไทย เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง จากการลดปริมาณการบริโภค การระดมเงินทุน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้ทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง หากปล่อยทิ้งไว้นานวันยิ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีโอกาสที่จะถูกเจ้าหนี้ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายได้
ดังนั้น เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งไม่อยู่ในสถานะหรือความสามารถที่จะชำระหนี้ได้เต็มจำนวน 100% ได้รับการฟื้นฟูกิจการ และไม่ต้องถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายหากมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้
กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดได้
สำหรับเงื่อนไขการยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการนั้น มีดังต่อไปนี้ คือ ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ ซึ่งเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันก็ได้ โดยผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประกอบกิจการในรูปแบบของคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนขั้นต่ำน้อยกว่า 3 ล้านบาท และกรณีผู้ประกอบการฯ ที่ประกอบกิจการในรูปแบบของบริษัทจำกัดต้องมีจำนวนหนี้แน่นอนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
จำนวนหนี้ขั้นต่ำดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการประกอบกิจการของผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเท่านั้น หากเป็นหนี้รายการอื่นๆ ที่มิได้เกิดจากการประกอบกิจการของลูกหนี้จะนำมารวมคำนวณเป็นยอดหนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการไม่ได้โดยเด็ดขาด
ในประเด็นเรื่องของบุคคล ซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการนั้น ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการ ซึ่งอาจเป็นคนเดียวหรือหลายคนรวมกัน และมีจำนวนหนี้แน่นอน สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ รวมทั้งผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นกัน
ในส่วนของเอกสารคำร้องขอ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการนั้น จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงการที่ลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะชำระหนี้ได้ รายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ คนเดียวหรือหลายคนที่ลูกหนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการและมีจำนวนหนี้แน่นอน ในคำร้องขอจะต้องระบุเหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ โดยผู้ร้องขอจะต้องแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้ให้ความเห็นชอบในแผนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด
หลักการนี้เป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นผู้จัดทำแผน ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ เนื่องจากลูกหนี้ย่อมทราบถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตนได้เป็นอย่างดี
รายการในแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ต้องระบุเหตุผลที่ทำให้มีการฟื้นฟูกิจการ รายละเอียดแห่งสินทรัพย์ หนี้สิน และภาระผูกพันต่างๆ ของลูกหนี้ในขณะที่ยื่นคำร้องขอ หลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง การลดทุนและเพิ่มทุนและต้องมีระยะเวลาดำเนินการตามแผนซึ่งไม่เกิน 3 ปี
หลักการสำคัญในเรื่องของการกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนไม่เกิน 3 ปี ดังกล่าวนั้น ไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ โดยให้ผู้ประกอบการเร่งดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ให้เป็นไปตามแผนโดยเร็วที่สุด และสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหนี้ว่าจะได้รับชำระหนี้ภายในระยะเวลาตามแผน ซึ่งแตกต่างจากการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการกรณีอื่นๆ ที่มิใช่การขอฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบการ ซึ่งกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผนไว้ว่าต้องไม่เกิน 5 ปี
จากหลักการต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่ารัฐพยายามช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้สะดวกและง่ายยิ่งขึ้น โดยกำหนดจากจำนวนหนี้ขั้นต่ำไม่ต้องถึง 10 ล้านบาท ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาด้วยว่าจะมีผู้ประกอบการที่หาช่องทางให้ตนเองอยู่รอดในยุค Covid-19 ได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาเพื่อขอฟื้นฟูกิจการมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป