เรียนออนไลน์ 'ไม่มีการวัดผล' ไม่พร้อม ไม่เป็นไร
นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มทดลองเรียนออนไลน์ หรือการศึกษาทางไกล เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นอกจากความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยีแล้ว ปัญหาสำคัญ คือความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้ปกครองที่คิดว่าต้องซื้อสมาร์ทโฟน ติดอินเทอร์เน็ตราคาแพง เพื่อให้ลูกหลานได้เรียน
ความกังวลแก่ผู้ปกครอง ที่กลัวว่าลูกหลานจะไม่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ความจำเป็นด้านการสื่อสารระหว่างโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่น่าจะมีความพร้อม ก็ใช่ว่าเด็กจะพร้อมทั้งหมด 100% เช่น โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี ระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งมีครูรวมกว่า 260 คน และนักเรียนกว่า 3,998 คน ภายใต้การบริหารของ “นพรัตน์ ทองแสง” ผู้อำนวยการโรงเรียน
จากการสำรวจความพร้อมของผู้ปกครองและนักเรียน โดยให้ครูประจำชั้น ติดต่อสอบถามเด็กๆ ในชั้นเรียน ผ่านทางกรุ๊ปไลน์ พบว่า กว่า 97% มีความพร้อมในด้านการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ แต่ความสำคัญกลับอยู่ที่ 3% ที่เหลือ ซึ่งเป็นเด็กต่างอำเภอ เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และติดต่อไม่ได้ จึงประกาศ ผ่านทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของทางโรงเรียนเพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักเรียนและผู้ปกครอง
ใจความว่า “ถึงผู้ปกครองที่เคารพและนักเรียนที่คิดถึงและน่ารัก ของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช การเรียนออนไลน์ของโรงเรียนเรา อย่าเครียด ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ ราคาแพง ไม่ต้องติดอินเทอร์เน็ตราคาสูง ไม่ต้องซื้อทีวีใหม่ ไม่ได้เรียนออนไลน์ ไม่ใช่ปัญหา ศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เมื่อเปิดภาคเรียน นักเรียนจะได้เรียนครบตามหลักสูตรที่กำหนด”
ผอ.นพรัตน์ อธิบายว่าการเรียนออนไลน์หรือการศึกษาทางไกล มองว่ามีความสำคัญและมีประโยชน์อยู่แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ขณะนี้จะมีเด็กราว 3% ที่ไม่พร้อม เนื่องจากอยู่ต่างอำเภอ อาจไม่มีสัญญานอินเทอร์เน็ต หรือติดธุระยังไม่สามารถติดต่อได้โโรงเรียนได้ให้ครูประจำชั้นทุกห้องซึ่งมีข้อมูลของเด็กทุกคน ติดตามสอบถามเพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ให้ครบ ภายในวันที่ 1 มิถุนายน
“ช่วงเรียนออนไลน์ ไม่มีการวัดผล ไม่มีส่วนที่ทำให้เด็กสอบได้ หรือสอบตก หากไปวัดประเมินผล เด็กจะเกิดความเครียด เพราะมีทั้งคนที่เข้าถึง เข้าไม่ถึง และสื่อที่เข้าถึงอาจจะต่างกัน ดังนั้น การประชุมเตรียมความพร้อมครู จึงต้องทำความเข้าใจกับครูด้วยว่า จะไม่มีการวัดผลใดๆ”
ก่อนดำเนินการโรงเรียนได้ร่างหลักสูตรออนไลน์ อบรมแนวทางการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ชั้น ม. 2-3 และ ม. 5-6 ให้แก่ครูทุกคนในโรงเรียนตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม โดยอบรมทางออนไลน์ราว 1 สัปดาห์ และอบรมทบทวนความรู้ทางห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 ครั้ง โดยครูฝ่ายโสตทัศนศึกษา รับหน้าที่เป็นวิทยากร แยกเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 4 ห้อง ซึ่งในช่วงแรกจะเน้น 5 รายวิชาหลัก แต่ละรายวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ครูต้องวางแผนร่วมกันว่า แต่ละระดับชั้น จะต้องมีสื่อ นวัตกรรมการสอนอย่างไร ให้สวยงาม น่าดู และเด็กเข้าใจง่าย ครูต้องมานั่งคุยกันว่าจะออกแบบการเรียนการสอนอย่างไร เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีการทำคลิปวิดีโอ อัพโหลดขึ้นยูทูป หรือเว็บไซต์ของโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ สามารถดูย้อนหลังได้
“เด็กๆ บางส่วนที่อาจเข้าไม่ถึงการเรียนออนไลน์ แต่เรามองว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะเด็กๆ สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีอื่นๆ ได้หลากหลาย เช่น จากเอกสารที่มีอยู่แล้ว บทเรียนสำเร็จรูป หรือจากใบงานที่ครูส่งให้ทางไลน์ ขอย้ำว่า เด็กนักเรียนไม่ต้องห่วง เรียนออนไลน์ไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวลว่าจะสอบตก สอบไม่ได้ หรือเรียนไม่ทันเพื่อน เพราะถึงอย่างไร การเรียนในระบบก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว”
ส่วนวันที่ 6-7 มิถุนายน 2563 เป็นวันสอบคัดเลือกนักเรียนระดับชั้น ม. 1 และ ม. 4 มีเด็กเข้าสอบคัดเลือกระดับละมากกว่า 700 คน โรงเรียน ได้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัด ให้เจ้าหน้าที่มาคัดกรองผู้เข้าสอบ ผู้ปกครองจะต้องส่งนักเรียนหน้าโรงเรียนเท่านั้น นักเรียนต้องได้รับการวัดอุณหภูมิ ต้องล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้าห้องสอบ และต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน มีการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร โดยจัดห้องสอบไว้ที่ 20 คนต่อห้อง
เช่นเดียวกับการเตรียมการรับเปิดเทอม 1 กรกฎาคม โรงเรียนจำเป็นต้องวางมาตรการคุมการแพร่ระบาดในลักษณะเดียวกับวันสอบคัดเลือก แต่ละห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 30 -45 คนในห้องที่มีเด็กจำนวนมาก อาจต้องจัดหาพื้นที่ในการจัดการเรียนการสอนที่กว้างขึ้น และเปิดโล่ง เพื่อกระจายไม่ให้ใกล้ชิดกันมากเกินไป ซึ่งโรงเรียน และผู้ปกครองเองก็รอฟังประกาศสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ขณะนี้จ.อุบลฯ ไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมา 45 วัน มองว่าไม่น่าห่วง นอกจากว่าจะเกิดการระบาดระลอก 2 อาจจะต้องใช้ระบบออนไลน์โดยให้เด็กนักเรียนเรียนที่บ้านแทน” ผอ.นพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย