'เมเจอร์-เอสเอฟ' ฮึดเปิดโรงหนัง ฟื้นรายได้ ขายตั๋วราคาเดิม
เมื่อต้องเปิดโรงหนัง และขายที่นั่งได้แค่ 25% แต่แบกต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงน ค่าดำเนินการต่างๆเต็มที่ กลายเป็นการ "ควักเนื้อ" หนักกว่าเดิม แต่เมื่อ "ทางเลือก" ฟื้นธุรกิจจำกัด ค่ายหนังจึงงัดทุกกลยุทธ์ ทำทุกทาง สร้างรายได้
ปี 2562 อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์มีมูลค่าตลาดราว 9,000 ล้านบาท และยังมีอัตราเติบโตที่ดี ทว่าปี 2563 สถานการณ์ตลาดไม่สวยหรู เพราะโรคโควิด-19 กลายเป็นปัจจัยช็อก!โลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ธุรกิจหลายเซ็กเตอร์สาหัสจากการปิดกิจการในช่วง “ล็อกดาวน์” หนึ่งในนั้นคือธุรกิจโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ต้องปิดให้บริการจนถึง 31 พ.ค.รวม 75 วัน ที่รายได้เป็น “ศูนย์”
ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 3 โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.2563 โดยยังคงมีมาตรการรักษาระยะห่าง ทำความสะอาดเข้มข้น ที่นั่งให้บริการได้แค่ 25% เท่านั้น หมายถึงยังคงเสียรายได้ 75% ผู้ประกอบการใน 2 รายใหญ่ ค่ายเมเจอร์ และเอสเอฟ จะปรับตัวทำธุรกิจอย่างไร !
เป็นผู้นำตลาดที่รายได้ทะลุ “หมื่นล้านบาท” แต่ไตรมาสแรก เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ประสบภาวะขาดทุนกว่า 250 ล้านบาท ดังนั้นภารกิจจากนี้คือกอบกู้รายได้ หาทางเติบโต โดย นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าแผน งัดอาวุธการตลาดทุกรูปแบบมาดึงผู้บริโภคให้มาเสพความบันเทิงนอกบ้านด้วยการดูภาพยนตร์
หมัดเด็ดสุดคือ “คอนเทนท์” หรือภาพยนตร์ไทย-เทศ ฟอร์มเล็กใหญ่ ต้องเร่งโปรโมท และผสานค่ายภาพยนตร์เพื่อนำออกมาฉายดึงคนดู โดยระยะแรกภาพยนตร์เก่าๆราว 50% ถูกนำมาฉายอีกครั้ง และภาพยนตร์ไทยอย่าง พจมานสว่างคาตา ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เสริมทัพ เช่น TENET หนังสายลับ ของผู้กำกับ “คริสโตเฟอร์ โนแลน” จากค่ายวอร์เนอร์ ที่ยืนยันไม่เลื่อนฉาย “มู่หลาน” จากวอลท์ ดีสนีย์
“หนังไม่มีวันหมดอายุ ไม่ใช่ของเสีย ที่เคยฉายแล้วนำมาฉายได้ และไตรมาส 4 จะมีหนังใหญ่ฉายทุกสัปดาห์ต่อเนื่อง”
เมเจอร์ ไม่รอแค่ภาพยนตร์จากค่ายอื่น เพราะบริษัทมีสตูดิโอและผนึกพันธมิตรสร้างภาพยนตร์สู่ตลาด โดยเฉพาะภาพยนตร์ไทย ปี 2563 มี 20 เรื่อง เมื่อฉายจอเงิน ยังหารายได้จากจออื่นทั้งต่างประเทศ สตรีมมิ่งค่ายต่างๆ
การดึงคนยังงัดโปรโมชั่นเต็มที่ เมื่อซื้อบัตรชมภาพยนตร์ผ่านแอพพลิเคชั่น Major Cineplex รับส่วนลด 30 บาทต่อที่นั่ง สมาชิกบัตร M Gen Regular รับส่วนลด 50 บาทต่อที่นั่ง สมาชิก M Gen ทุกประเภท เมื่อซื้อผ่าน App Major Cineplex รับคะแนนเพิ่ม 5 เท่า เป็นต้น ซึ่งสมาชิกบัตรมีมากกว่า 1.5 แสนราย และยังเป็นการกระตุ้นยอดขายออนไลน์ให้แตะ 50% และ 80% เหมือนในจีน จากปัจจุบัน 15%
กลยุทธ์เหล่านี้ นรุตม์ ต้องการสร้างยอดขายตั๋วให้ได้กว่า 90% จากสัดส่วนที่ให้บริการได้ 25% หวังฟื้นยอดขายทั้งปีให้ “ทรงตัว” เท่าปีก่อน ที่ขายตั๋วราว 35.5 ล้านใบ รายได้ทั้งปี 62 กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท กำไรกว่า 1,100 ล้านบาท
จะต้องการเปิดให้บริการหรือ “ปิดต่อ” แต่นาทีนี้ต้องเดินหน้าเมื่อรัฐผ่อนคลายล็อกดาวน์ ห้างกลับมาเปิด “ต้นทุน” การดำเนินงาน “วิ่ง” แล้ว เมื่อทางเลือก!ไม่มี พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงงัดแผนงานทุกอย่างมาใช้ เริ่มจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด สร้างความมั่นใจให้ลูกค้ามาใช้บริการ และออนไลน์ถูกนำมาตอบสนองพฤติกรรมการซื้อตั๋วและดูภาพยนตร์ของผู้บริโภค
พิมสิริ ทองร่มโพธิ์
การกลับมาขายที่นั่งได้เพียง 25% นาทีนี้จึงเร่งโปรโมทหน้าหนังให้แฟนๆรับรู้ ภาพยนตร์ดีเด็ดมีเท่าไหร่ จะอัดเข้าโรงเต็มที่ เมื่อเข้าฉายจะ “ยืนระยะ” ให้นานเป็นเดือน จากเดิมฉายราว 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ มาตรการเคอร์ฟิว การตั้งการ์ดป้องกันโรคยังเข้มข้น ทำให้จำนวนรอบฉายลด 2 รอบต่อวัน จาก 4-5 รอบต่อวัน แต่ภาพรวมของต้นทุนการบริหารจัดการมหาศาล เฉลี่ยต่อเดือนหลัก “ร้อยล้าน” ทำให้บริษัทต้องหาทางลดต้นทุนรอบด้าน
นอกจากนี้ เปิดโรงภาพยนตร์แบบปัจจุบัน ทั้งที่ควรมีเวลาเตรียมตัว 3 สัปดาห์โปรโมท ทำให้เดินหน้าเจรจากับพันธมิตร รัฐเพื่อหาทางช่วยเหลือลดผลกระทบ ประคองกิจการกันไป
ปีนี้ครบ 20 ปี ของเอสเอฟ เดิมบริษัทมีโปรเจคมากมาย เพื่อสร้างปรากฏการณ์ทั้งการขายตั๋วเพิ่มขึ้น จากปีก่อน 20 ล้านบาท ปี 2563 พลาดเป้าแน่ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ระดมทุนไตรมาส 3 ต้อง “นับหนึ่ง” อีกครั้งเพราะตามเกณฑ์ตลาดฯต้องทำกำไร 3 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการเงินแกร่ง และเดินหน้าลงทุนขยายโรงภาพยนตร์ 4 แห่งปีนี้ งบลงทุนราว 70 ล้านบาทต่อโรง
“ช่วงธุรกิจปิดให้บริการทุกคนคงทำเหมือนกันคือดูต้นทุน ลดรายจ่ายในรายละเอียดมากขึ้น เมื่อกลับมาเราจัดรอบฉายให้ดีที่สุด เพราะการกลับมาโอกาสขายที่นั่งมีเพียง 25% แต่ต้นทุนเรากลับมาปกติ”
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นทั้ง 2 ค่ายยังคงจำหน่ายตั๋วหนังในราคาเดิม เอสเอฟ เฉลี่ย 160 บาทต่อที่นั่ง ส่วนเฟิร์สคลาสราว 900 บาทต่อที่นั่ง