สถาบันอัญมณีปั้นเครื่องประดับอีสานพัฒนาแบรนด์โกอินเตอร์

สถาบันอัญมณีปั้นเครื่องประดับอีสานพัฒนาแบรนด์โกอินเตอร์

สถาบันอัญมณีฯ เปิดตัวโครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ หรืออีสานเดิ้น เตรียมช่วยพัฒนาสินค้าในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดอีสานใต้ ดันสู่ตลาดเพิ่มยอดจำหน่าย

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) อันประกอบด้วยพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี โดยได้จัดการประชุมหารือร่วมกับภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค ซึ่งได้นำร่องที่จังหวัดศรีสะเกษไปแล้ว และจะจัดประชุมร่วมกับจังหวัดที่เหลือต่อไป

“ในปี 2563 นี้ สถาบันฯ ได้ตั้งเป้าลงพื้นที่เป้าหมายในกลุ่มดินแดนอีสานใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีความแตกต่างกันทั้งด้านภาษา ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี  รวมถึงการใช้เครื่องประดับอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่จากการเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุมสัมมนาและฝึกอบรมแบบปกติได้ จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการนี้ได้อย่างไม่สะดุด”

159108826918

นางดวงกมล  กล่าวว่า สำหรับการจัดโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการในท้องถิ่นในพื้นที่อีสานใต้ ตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 200 ราย โดยหลังจากที่เข้าไปอบรมแล้ว จะทำการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเข้าร่วมอบรมเชิงลึก และทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบแถวหน้าของประเทศ ซึ่งหลายๆ ท่านมีรางวัลการันตี เช่น Designer of the Year จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อร่วมกันผลิตสินค้าเครื่องประดับต้นแบบ ที่มีกลิ่นอายของอีสานเดิ้น ก่อนที่จะช่วยเหลือในด้านการทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ผลงานต้นแบบที่ผลิตได้ จะช่วยนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ที่ TEMP Pop-Up Store by GIT และนำไปจัดแสดงภายในงานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 66 ระหว่างวันที่ 7–11 ก.ย.2563 เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ สถาบันฯ ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค  (Gems Treasure) จำนวน 15 จังหวัด มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 1,300 ราย และสามารถผลิตชิ้นงานเครื่องประดับต้นแบบได้กว่า 30 คอลเลกชัน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายให้กับผู้ผลิตในท้องถิ่น และหลายรายสามารถขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในเรื่องราวของอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งด้านการตรวจสอบ และการออกแบบ ซึ่งสามารถขอรับคำปรึกษากับ GIT ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันกะรัต (CARAT) แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้แอปลิเคชันดังกล่าวเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีแล้ว ผ่านระบบ IOS และ Android