บทเรียนเขื่อนกั้นคลื่นม่วงงาม
หลังจากปักหลักหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาเป็นเวลากว่า 4 คืน 5 วัน เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดและกรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกการก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อ.สทิงพระ ความยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร
ประชาชนชาวม่วงงามและเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามนับร้อยคนก็ได้รับข่าวดี หลังจากกรมโยธาธิการฯ ได้ประกาศชะลอโครงการออกไปก่อนในวันศุกร์ที่ผ่านมา
อาจารย์ศักอนันต์ ปลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มองว่า โครงการเขื่อนกั้นคลื่นที่ม่วงงามนี้ ต่างออกไปจากโครงการเขื่อนกั้นคลื่นที่อื่นๆ ตรงที่มีประชาชนในพื้นที่ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการลักษณะนี้เป็นครั้งแรกๆ และอาจนำไปสู่จุดทบทวนการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่อาศัยสิ่งก่อสร้าง (hard structure) เป็นหลักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในเวลานี้
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนกั้นคลื่นบริเวณหาดม่วงงาม ได้มีการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยผู้แทนกรมโยธาธิการฯ เคยกล่าวถึงเหตุผลในที่ประชุมว่า จะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีและกินพื้นที่หาดเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังจะช่วยป้องกันอาคารบ้านเรือนและส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว และช่วยเสริมให้ทัศนียภาพของหาดมีความสวยงามมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ
จากข้อมูลของกรมฯ รูปแบบของการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นในบริเวณดังกล่าว จะเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันไดเสริมเหล็กความยาว 630 เมตร โดยมีสันเขื่อนกว้าง 3.5 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างบนชายฝั่งตลอดแนวชายหาดของพื้นที่หมู่ที่ 7
อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบและพบเห็นการก่อสร้างในพื้นที่โดยที่ยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถาม อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และปัญหาของโครงการในลักษณะคล้ายๆกันจากที่อื่นๆ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาคัดค้านในที่สุด
“ในพื้นที่ม่วงงาม ประชาชนมีความผูกพันกับชายหาดค่อนข้างมาก มี story ของพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ในที่อื่นๆ เราจะไม่ค่อยเห็นใครลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อที่บอกกันมาว่า คลื่นแรงก็เอาหินถมสู้ ก็ถูกแล้ว มันเลยเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลว่า การคัดค้านโดยเฉพาะแค่นักวิชาการ เบรคโครงการไม่ได้ซักที” อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าว
บทเรียน
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ม่วงงามกำลังนำมาสู่การตั้งคำถามถึงการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งยังเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งและทรัพยากรชายฝั่งของประเทศในภาพรวม ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการอย่างอาจารย์ศักดิ์อนันต์และ ทช. พบว่าโครงสร้างแข็งต่างๆ ที่ถูกสร้างเพื่อแก้ปัญหา กลับเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเสียเอง โดยนอกจากเขื่อนกั้นคลื่นตามชายฝั่งแล้ว ยังมีเขื่อนกั้นปากร่องน้ำ ซึ่งกลายเป็นสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง รวมกันถึงกว่า 60% มากกว่าสาเหตุทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ เครือข่าย Beach for Life ที่ติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและการจัดการพื้นที่ชายฝั่งและนักวิชาการในเครือข่าย พบว่า หลังปี 2557 ที่มีการยกเลิกการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว มีถึงกว่า 70 โครงการที่ถูกผลักดันโดยกรมโยธาธิการฯ และกรมเจ้าท่า ความยาวรวมกันกว่า 34,800 เมตร มูลค่ากว่า 6,900 ล้านบาท
อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็ยังเป็นหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งของประเทศในภาพรวม แต่หลักคิดและการจัดการปัญหา คือสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในเวลานี้
ที่ปรึกษาฯ ทช. กล่าวว่า ระบบนิเวศและพื้นที่ชายฝั่งต้องการการคิดเพื่อการบริหารจัดการที่เป็นระบบตามสภาพของระบบนิเวศนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ระบบไหวเวียนของน้ำของภาคใต้ ที่ไม่ได้ไหลสู่ทะเลตรงๆ หากแต่ไหลเลียบชายฝั่ง ซึ่งเป็นเหตุผลว่า การออกแบบท่อระบายน้ำของหลายๆโครงการไม่ได้ผล และตัวเขื่อนอาจขวางกั้นทางน้ำและอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ได้
โครงสร้างแข็งเหล่านี้ กลับจะไปเปลี่ยนสภาพนิเวศโดยเฉพาะกระแสน้ำและการเกิดของหาดทราย ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะทางด้านข้างขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนถึงความไม่เข้าในระบบนิเวศชายฝั่ง โดยคิดแต่การแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรม ซึ่งบางหน่วยงาน อาจแทบไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับทะเลและชายฝั่งเลย
การจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เคยถูกนำเสนอรัฐบาลพร้อมข้อเสนอในการจัดการปัญหาที่ผ่านการศึกษามาแล้วในช่วงปี 2561 โดยแบ่งระดับของการแก้ปัญหาออกเป็นระดับสีขาว ซึ่งหมายถึงการยอมรับปรับตัว ถอยร่นจากโซนเสี่ยง, ระดับสีเขียว หมายถึงการใช้มาตรการอ่อน (soft measures) ต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการปรับล้อไปกับธรรมชาติ อาทิ การเติมทราย การฟื้นฟูป่าชายหาด, และระดับท้ายสุดคือสีเทา ซึ่งหมายถึง สิ่งก่อสร้างต่างๆ (hard structure) ซึ่งอาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า เป็นทางเลือกสุดท้ายของการแก้ปัญหามากกว่าจะเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“สิ่งก่อสร้างต่างๆ ถือเป็นโครงสร้างที่เสี่ยงที่สุดในการแก้ปัญหา เพราะมันมีสิทธิ์ลุกลามบานปลายมากที่สุด มันจะถูกเลือกใช้จริงๆ ในกรณีที่เราต้องการปกป้องอะไรที่สำคัญจริงๆ ซึ่งนั่นแปลว่า เราเลือกที่จะยอมให้ตรงอื่นพังจากผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งก่อสร้าง องค์ความรู้นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยอมรับและปรับเปลี่ยนกันนานแล้วโดยเฉพาะในต่างประเทศ แต่ของบ้านเรา วิศวกรยังคิดถึงแต่สิ่งก่อสร้างที่มันแข็งๆ เพื่อสู้ธรรมชาติ” อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าว
หลังปี 2557 เป็นต้นมาที่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการในลักษณะนี้ถูกยกเลิกไป อาจารย์ศักดิ์อนันต์แนะว่า จำเป็นที่จะต้องนำกระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรองโครงการกลับมาใหม่ แม้จะไม่มีความเข้มข้นเท่า EIA
อาจารย์ศักดิ์อนันต์คาดการณ์ว่า ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่จะทำให้วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแหลมคมขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในทางวิชาการ ก็ได้ให้การยอมรับในแนวคิดการปรับตัวในระยะยาวมากกว่าเช่นกัน
“ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อในเคสของม่วงงาม และโครงการอื่นๆ แต่มันทำให้คนสนใจและศึกษาประเด็นชายฝั่งมากขึ้น และเป็นโอกาสที่จะให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องนี้กัน
“ในเชิงวิชาการ การแก้ปัญหาในระดับสีขาวและสีเขียวคือทางเลือก แต่ประเด็นก็คือ มันใช้งบไม่เยอะ” อาจารย์ศักดิ์อนันต์ทิ้งท้าย
ภาพ/ Beach for Life