'อ.เจษฎ์' ชี้แจง 5 ข้อ ปมความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ 'CPTPP'
"อ.เจษฎ์" ทนไม่ไหวชี้แจง 5 ข้อ ปมความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ "CPTPP" โดยเฉพาะในประเด็นด้านการเกษตร
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อ.เจษฎ์ โพสต์เฟซบุ๊กเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ระบุว่า "ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ CPTPP โดยเฉพาะในประเด็นด้านการเกษตร"
เล็งๆ อยู่นาน ว่าจะลงมาเปลืองตัวพูดเรื่องนี้กับเขาด้วยดีไหม เพราะกระแสคัดค้านเรื่อง CPTPP นั้นก็แรงเหลือเกิน ไม่แพ้กับตอนเรื่องแบนสารเคมีทางการเกษตร (หรือตอนคัดค้าน GMO) ... แต่ถ้าไม่พูดอะไรได้บ้างเลย ก็เหมือนกับปล่อยให้พวก NGO กลุ่มเดิมๆ กลุ่มนั้น ออกมาสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนคนไทยได้ ... เลยขอพูดอะไรหน่อยแล้วกัน แต่ไม่เข้าไปตอบโต้ด้วยเหมือนสมัยก่อนแน่ๆ
CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก นั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบริษัท CP แต่เป็นแค่ชื่อใหม่ของความตกลง TPP ที่ไทยเราเคยจะเข้าร่วม แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้า
ปัจจุบัน CPTPP มีประเทศเข้าร่วม 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และเวียดนาม มีประชากรกว่า 415.8 ล้านคน ( 6% ของโลก) โดยในปี 2562 ไทยมีการค้ากับ CPTPP 7 ประเทศนี้ รวม 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (23.6% ของการค้าไทยกับโลก)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว มี GDP ขยายตัว 0.12% ( 1.33 หมื่นล้านบาท) การลงทุนขยายตัว 5.14% (1.48 แสนล้านบาท) มีตัวอย่างว่า ตั้งแต่มี CPTPP เวียดนามส่งออกไปประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น 7.85% และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 9.92% (ไทยส่งออกไป CPTPP เพิ่มขึ้นเพียง 3.23%)
แล้วยิ่งมีวิกฤตโรคโควิด-19 ก็ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องหาพันธมิตรใหม่ๆ หรือเข้าร่วมความตกลงการค้า (เช่น CPTPP) เพื่อให้ไทยยังสามารถอยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลก เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำหรับประเด็นที่มีผู้กังวลว่าความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ผลการศึกษาในข้อตกลง CPTPP และข้อผูกพันของประเทศสมาชิก CPTPP พบว่า
รายละเอียดของเอกสารข้อตกลง CPTPP ฉบับเต็มนั้น สามารถอ่านได้ที่ ข้อบทความตกลง CPTPP ซึ่งมีรายละเอียดในเชิงกฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
ปัญหาคือกลุ่มเครือข่าย NGO ที่คัดค้านเรื่องนี้ มักจะนำเอาข้อมูลมาย่อแนะนำไปเผยแพร่ให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ดังเช่น เรื่องที่บอกว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้เกษตรกรไทยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากนายทุนรายใหญ่ ห้ามเก็บเมล็ดพืชไปปลูกใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตพืชผักของเกษตรกรแพงขึ้น จนไม่สามารถทำมาหากินได้อีก .... แต่ถ้าหยุดคิดดีๆ จะเห็นว่า สมาชิกหลายประเทศของ CPTPP ก็เป็นประเทศเกษตรกรรม ทำไมเขาถึงไม่มีปัญหากับเรื่องพวกนี้ ?
คำตอบคือ เพราะมันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้นเลยครับ ... สังคมไทยแค่โดนวิธีการรณรงค์แบบเดิมๆ ของเครือข่าย NGO พวกนี้ ที่พูดความจริงไม่ครบทุกด้าน และสร้างสีสันให้เลวร้ายจนเกินความจริง
ตัวอย่างเช่น อ้างว่าจะมีบริษัทต่างชาติมาดึงเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปปรับปรุงดัดแปลงได้ (ซึ่งอันนี้จริง ตามหลักการค้าเสรีในข้อตกลง CPTPP) แต่ไม่อธิบายเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 ที่ให้สิทธิแก่หน่วยงาน เอกชน หรือนักวิจัยนำพันธุ์พืชไปปรับปรุงได้อยู่แล้ว
หรือเรื่องที่บอกว่า เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากบริษัทเอกชนในราคาแพง (ซึ่งมันก็ไม่แปลก เพราะมันเป็นเมล็ดพันธุ์ดี ที่ผ่านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว) แต่ไม่ได้อธิบายเรื่องที่ว่า ไม่มีใครไปบังคับให้เกษตรกรต้องซื้อจากบริษัทไหน เขาสามารถเลือกซื้อจากบริษัทอื่นๆ ที่ราคาถูกกว่า (แต่คุณภาพต่ำกว่า) หรือรับฟรีจากที่ราชการแจกจ่าย (ซึ่งคุณภาพยิ่งต่ำลงไปอีก) ก็ได้
ส่วนที่บอกว่า บริษัทต่างชาติจะนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองนั้น ก็ทำไม่ได้ครับ เพราะพันธุ์พืชพื้นเมืองได้รับการคุ้มครองทางกฏหมายอยู่แล้ว ... ที่เขาจะจดทะเบียนกัน ก็มีได้แต่เฉพาะตัวของพันธุ์พืชสายพันธุ์ใหม่ ที่ผ่านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์แล้วเท่านั้น
และจริงๆแล้ว เกษตรกรก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อได้ เพียงแต่จะลักลอบนำมาผลิตขายเป็นเมล็ดพันธุ์เองไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา ตามแบบปกติเลยนะ .. เหมือนกับเราซื้อแผ่นซีดีภาพยนต์มาเปิดดูที่บ้าน หรือ ก๊อปปี้ไปดูที่ทำงาน ก็ได้ แต่ไม่ใช่ปั๊มแผ่นไปขายแข่งกับเจ้าของแผ่นหนังนั้น
ลองมาอ่านคำชี้แจงโดยละเอียดของเรื่องนี้ กันดูนะครับ จะเห็นว่ามันคนละเรื่องกัน กับที่แชร์ภาพการ์ตูนง่ายๆ นั้นแล้วทำให้เราตกใจกลัวกันไปหมดเลย ว่าจะเกิดหายนะกับเกษตรกรไทย (ทั้งๆที่มันไม่ใช่เรื่องจริง)
1. ข้อกังวลเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ
- ไม่ได้ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิด รวมถึงสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
- มีข้อยกเว้นให้เกษตรกร สามารถเก็บพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้ และยังนำพันธุ์พืชใหม่นึ้ไปพัฒนาต่อยอด โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ (ตาม UPOV 1991 Article 15)
- เมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์มาอย่างถูกต้อง เกษตรกรมีสิทธิเพาะปลูก และจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากผลผลิตนั้น โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์
2. ข้อกังวลเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์แก่บริษัทเอกชน
- ไม่ได้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชนนั้น เนื่องจากคุ้มครองสิทธิแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด ทั้งบริษัทเอกชน นักวิจัยภาครัฐ นักปรับปรุงพันธุ์พืชอิสระ นักศึกษา เกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้
- ช่วยทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งหลายเพิ่มการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชมากขึ้น มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เกิดการแข่งขันด้วยเรื่องคุณภาพของพันธุ์ ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท
3. ข้อกังวลว่าจะลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ
- ไม่มีข้อห้าม หรือลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ (Access and Benefit-Sharing: ABS) ไทยก็เป็นสมาชิกของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งไทยก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์
4. ข้อกังวลว่าเกษตรจะซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น
- เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่ได้จดทะเบียนคุ้มครองอาจจะมีราคาแพงขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง
- ราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดจะถูกกำหนดด้วยความดีเด่นของพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ และผลผลิตตอบแทนที่ ซึ่งหากเกษตรกรเห็นว่าแพงไป ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เกษตรกรก็จะไม่ซื้อและไปซื้อพันธุ์อื่นที่ถูกกว่าได้
- นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเลือกใช้พันธุ์ของหน่วยงานรัฐได้ด้วย
- การมีพันธุ์พืชใหม่ๆ หลากหลาย ออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ได้พันธุ์ที่ตรงกับตามความต้องการของตลาด
5. ข้อกังวลเรื่อง GMO
- ความตกลง CPTPP ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกต้องปรับกฎหมายภายในประเทศในเรื่องสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology) แต่อย่างใด ไม่ได้มีการบังคับเรื่องการเพาะปลูกพืช GMO แต่อย่างไร
จะเห็นว่า นี่แค่เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรเรื่องเดียว ยังต้องอธิบายกันยาวขนาดนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ถูกนำมาอ้างแบบผิดๆ (เช่น สิทธิบัตรยา) ... ซึ่งก็หวังว่า ถ้าใครสนใจด้วยจริงๆ ควรจะพยายามศึกษาข้อมูลเยอะๆ จากทุกด้าน .. อย่าแค่ตามกระแส ว่าต้องไปช่วยกันคัดค้าน ไม่งั้นจะตกขบวนคนดีไปกับเขาด้วยครับ