สวนรุกขชาติเชตวันแจง รื้ออาคารเก่าบอมเบย์เบอร์มา ตามการประเมินของวิศวกรกรมอุทยานฯ
ผู้ว่าฯ แพร่ตั้ง กก. สอบด่วน
หลังมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงการรื้อถอนอาคารไม้เก่าแก่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำการของบริษัททำไม้ภาคเหนือและภูมิภาคบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ริมแม่น้ำยม จังหวัดแพร่, นายประพงษ์ อรรคสีวร หัวหน้าสวนรุกขชาติเชตวัน ได้กล่าวกับ สวท. แพร่เมื่อบ่ายวันนี้ว่า หลังจากเข้ามาทำงานก็ได้พยายามปรับปรุงสวนรุกขชาติเชตวันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะการปรับปรุงอาคารให้มีความแข็งแรงสามารถรองรับนักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษาที่มาเรียนรู้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความปลอดภัย เนื่องจากโครงสร้างเดิมชำรุดเสียหายมาก โดยเบื้องต้น ตั้งเป้าเพียงปรับปรุงซ่อมแซมส่วนที่ผุพังเท่านั้น
แต่เมื่อวิศวกรจากสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาประเมินพบว่า เสียหายมากและจำเป็นต้องรื้อถอน ซึ่งในเบื้องต้นได้สอบถามไปยังกรมศิลปากรแล้วแต่ไม่ได้รับคำตอบ
โดยอาคารดังกล่าว นายประพงษ์กล่าวว่า ไม่ใช่โบราณสถานเพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารเก่า และยังอยู่นอกเขตควบคุมเมืองเก่า เมื่อทางสวนรุกขชาติได้รับงบประมาณ จึงได้เริ่มต้นดำเนินการปรับปรุงดังกล่าว
ภาพ/ อาคารบอมเบย์เบอร์มาก่อนถูกรื้อถอน/ สวนรุกชาติเชตวัน
ทั้งนี้ นายประพงษ์ กล่าวว่า วิศวกรของกรมอุทยานฯ จะลงพื้นที่ในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะได้มีการนัดหมายพูดคุยชี้แจง หารือแนวทางการดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารดังกล่าวกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทางด้านนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ยอมรับและเสียใจที่ไม่ได้แจ้งให้คนแพร่ทราบเกี่ยวกับการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา แต่ยืนยันว่าทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม โดยไม้ทุกชิ้นยังอยู่ครบ ทางคณะฯ ไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ความตั้งใจจะปรับปรุงให้ดีมีความมั่นคงแข็งแรงสวยงาม โดยขั้นตอนต่อไปจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมและผู้รู้ด้านอาคารสถาปัตยกรรมโบราณเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงทุกขั้นตอน
การปรับปรุงอาคารฯ ดังกล่าวกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในจังหวัดแพร่ในวันนี้ เมื่อภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่กว่า 50 คน เดินทางเข้าพบนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เพื่อคัดค้านการรื้อทำลายอาคารอาคารที่ทำการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์ของจังหวัดและของประเทศเรื่องการทำไม้ในอดีต
โดยตัวเรือนเป็นเรือนไม้สองชั้น ที่ถูกระบุว่าสร้างตั้งแต่ ปี พ.ศ2432 หรือมีอายุราว 131 ปี ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในสวนรุกขชาติเชตะวันในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) ดังกล่าว
เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง จำกัด จากประเทศอังกฤษและบริษัทอีส เอเชียติค จำกัด จากประเทศเดนมาร์กที่ได้เข้ามาตั้งสำนักงานที่อยู่อาศัยและใช้เป็นท่าน้ำล่องซุงจากแม่น้ำยมสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจนทำให้เมืองแพร่เป็นที่รู้จักว่า เป็นดินแดนแห่งไม้สักทองคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของเมืองที่ชาวเมืองมีความผูกพัน
แต่เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน, อาคารดังกล่าว กลับถูกพบว่า ถูกรื้อถอนทำลายลง โดยทางเครือข่ายฯ กล่าวหาว่า ปราศจากการศึกษาโครงการก่อนการดำเนินการ และไร้หลักวิชาการในการอนุรักษ์ฟื้นฟูอาคารอย่างถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของชุมชน ไม่สอดคล้องกับนโยบายในการอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าแพร่ ที่ได้ทำการศึกษาตามแผนแม่บท
ทางภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าฯ จึงได้ขอยื่นหนังสือและข้อเสนอให้ทางด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบการรื้อถอนทำลายอาคารประวัติศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้
1.ระงับการก่อสร้างโครงการ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตะวัน จังหวัดแพร่ทันที
2.เปิดเผยข้อมูลโครงการ งบประมาณ รูปแบบการก่อสร้าง แผนการดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบโครงการ
3.ตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบในการรื้อถอนทำลายอาคารประวัติศาสตร์
4.สร้างประชาคมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ในการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่สวนรุกขชาติอย่างเปิดกว้าง
5.หน่วยงานที่รับผิดชอบนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูบูรณะ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563
ทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางกานต์เปรมปรีด์ กล่าวว่า ตอนนี้ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้ลงพื้นที่ดูบริเวณจุดที่มีการรื้อถอนตั้งแต่ช่วงเช้า และได้มีการสอบถามข้อเท็จจริง พร้อมสั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องนี้ด้วย
"เมื่อแล้วเสร็จต้องให้เหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว และสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนหรือซ่อมได้ คือความชำรุดเสียหาย ตอนนี้ขอให้ทางจังหวัดได้ตรวจสอบ ตั้งแต่การเริ่มโครงการ และการของบประมาณจนการทำทีโออาร์ รวมทั้งการก่อสร้าง ว่าเป็นไปตามเจตนารมย์หรือไม่ ขอเวลาให้ได้ตรวจสอบก่อน"ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าว