'จตุพล' ไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาล สอบถามข้อเท็จจริง อสมท
"ประธานบอร์ด อสมท" ออกหนังสือไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาลในการสอบถามข้อเท็จจริงของสหภาพ อสมท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือถึง นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล อสมท เพื่อชี้แจงข้อร้องเรียนของสหภาพแรงงานฐวิสาหกิจ อสมท โดยอ้างถึง 1.หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0403(กร 6)/5397 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 และ 2. หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0403(กร 6) /5537ลงวันที่ 1มิถุนายน 2563
เนื้อหาของหนังสือ ระบุว่า ตามที่ท่านได้มีหนังสือตามที่อ้างถึง ให้ชี้แจงเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) (บมจ. อสมท) และล่าสุด กรณีมีข่าวผ่านทางสื่อมวลชน เรื่อง การสั่งการให้ตรวจสอบผู้บริหารสูงสุดของ บมจ. อสมท เรื่องคลื่น 2600 MHz นั้น
ในนามประธานกรรมการ บมจ. อสมท ใคร่ขอเรียนให้ทราบว่า บมจ.อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และได้มีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว นอกจากนี้ บมจ.อสมท ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลการประกอบกิจการของกระทรวงการคลัง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) เป็นผู้ดำเนินการแทนกระทรวงการคลัง อันเป็นไปตามมาตรา 33 วรรค 3 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ผศ. 2562 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
อีกทั้ง บมจ.อสมท ยังคงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ดังนั้น บมจ.อสมท จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจด้วยกฎหมายจัดตั้ง หากแต่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่เป็นรัฐวิสาหกิจตามนิยามในกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง บมจ อสมท กับรัฐ ต้องเป็นไปในลักษณะของบริษัทกับผู้ถือหุ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535(และที่แก้ไขเพิ่มเติม) อย่างเคร่งครัด โดยหน่วยงานของรัฐที่สามารถกำกับดูแล บมจ อสมท ในฐานะผู้ถือหุ้นได้จะต้องดำเนินการตามอำนาจที่มีทางกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกับการกำกับดูแลกิจการของ บมจ. อสมท ประกอบด้วย
พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ จะมีเพียงพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายและมอบอำนาจให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล บมจ. อสมท ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 165/2562 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ประกอบกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 196/2562 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการมอบอำนาจภายใต้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 เท่านั้น
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่าง บมจ. อสมท และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. อสมท ยังต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพการจ้างเท่านั้น ไม่สมควรก้าวก่ายการบริหารจัดการภายในซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่ได้รับมอบมาจากผู้ถือหุ้น เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักการกำกับดูแลกิจการของ บมจ. อสมท
โดยหากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. อสมท มีประเด็นเกี่ยวกับสภาพการจ้างภายใต้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ก็สามารถขอเจจากับคณะกรรมการ บมจ. อสมท ได้โดยตรง หรือหากมีประเด็ร้องเรียนในฐานะพนักงานบริษัท ก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่ สคร. ในฐานะตัวแทนของกระทรวงการคลัง ภายใต้พระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสหกิจ พ.ศ.2562 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) หรือสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน ซึ่งเป็นผู้รักษากาพระราชบัญญัติแรงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ได้เช่นกัน
จากที่กล่าวมาข้างตันทั้งหมด จึงขอเรียนให้ทราบว่า บมจ. อสมท จะสามารถดำเนินการตามที่ท่านร้องขอได้ หากดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการที่ถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการ บมจ. อสมท เพื่อขอให้ชี้แจงข้อร้องเรียนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ. อสมท เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารใน อสมท ที่ส่อมิชอบ และกรณีเรื่องเงินเยียวยา คลื่นความถี่ 2600 จาก กสทช.