ไวรัสโคโรนา 2019 และการแก้ไขปรับปรุง 'กฎหมายภาษีอากร'

ไวรัสโคโรนา 2019 และการแก้ไขปรับปรุง 'กฎหมายภาษีอากร'

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรและการจัดเก็บภาษี เนื่องจากเดิมกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้รัฐ แต่ขณะนี้ผู้เสียภาษีไม่อาจเสียภาษีให้รัฐได้ ดังนั้นรัฐจึงต้องปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง? ติดตามอ่านได้ที่นี่

ที่ผ่านมาหากพิจารณาถึงการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรแล้ว จะพบว่ามีการตรากฎหมายภาษีอากรจำนวนหลายฉบับ เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้เสียภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นการลด ยกเว้นภาษี หรือการผ่อนผันการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร เป็นต้น

การบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรผ่านการตรากฎหมายภาษีอากร เพื่อบังคับใช้มีความสัมพันธ์และมีความเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอากรเป็นเหตุผลเบื้องหลังอย่างหนึ่งของการจัดเก็บภาษีอากรในปัจจุบัน และส่งผลถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้เสียภาษีอากร

ดังนั้นผู้เขียนจึงนำเสนอข้อสังเกตบางประการต่อวัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอากรที่มีความเกี่ยวพันกับการตรากฎหมายภาษีอากรในสถานการณ์ปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีอากรสามารถจำแนกออกได้หลายประการ แต่ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดคือ การสร้างรายได้ให้แก่รัฐและการบรรลุผลทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลขั้นพื้นฐานประการแรกของการตรากฎหมายเพื่อการจัดเก็บภาษีอากร

สำหรับการบรรลุผลทางเศรษฐกิจนั้น การตรากฎหมายภาษีอากรเพื่อจัดเก็บภาษีอากร มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และทรัพย์สิน การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การขยายตัวและพัฒนาทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายดังกล่าวข้างต้นถูกแปรเปลี่ยนเป็นมาตรการกฎหมายภาษีอากรที่ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น การลดอัตราหรือยกเว้นภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคของภาคเอกชน หรือจูงใจให้มีการลงทุนประกอบธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย การดำรงชีวิต การประกอบอาชีพและการประกอบกิจการของประชาชนหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังที่ทุกฝ่ายทราบกันดีแล้ว สถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรและการจัดเก็บภาษีอากรอีกด้วย เนื่องจากแต่เดิมนั้นกฎหมายภาษีอากรมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ

แต่ในสถานการณ์ดังกล่าวสามารถคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบต่อความสามารถของผู้เสียภาษีอากรที่ไม่อาจเสียภาษีอากรให้แก่รัฐได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตรากฎหมายภาษีอากร เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้เสียภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นการลดหรือยกเว้นภาษี หรือการผ่อนผันการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุผลทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลกำหนดไว้

ตัวอย่างของการตรากฎหมายภาษีอากรเพื่อบรรลุผลทางเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ผ่านมา คือ พ.ร.ฎ.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 ที่มีการระบุเหตุผลของการประกาศใช้ พ.ร.ฎ.

สรุปได้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลก ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง สมควรลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะจัดเก็บตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม

จึงให้ลดจำนวนภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ.2563 สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อย่างอื่น และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

หรือกฎกระทรวง ฉบับที่ 363 (พ.ศ.2563) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรที่มีการระบุเหตุผลของการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวสรุปได้ว่า

รัฐบาลมีนโยบายที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดทุนไทยในช่วงระยะเวลาที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน จึงกำหนดให้เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น

โดยผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมไม่น้อยกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย ทั้งนี้สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2563 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

จากการตรากฎหมายภาษีอากรเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้แก่ผู้เสียภาษีอากรดังตัวอย่างข้างต้น ทำให้เห็นว่านอกจากกฎหมายภาษีอากรหรือการจัดเก็บภาษีอากรมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐแล้ว สำหรับในบางสถานการณ์โดยเฉพาะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการตรากฎหมายภาษีอากรเพื่อการบรรลุผลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกด้วย

ดังนั้นกฎหมายภาษีอากรและการจัดเก็บภาษีอากรจึงมีความเป็นพลวัตหรือสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บภาษีอากรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาได้