ปลูกถ่าย 'สเต็มเซลล์' จากน้องชายวัย 5 ขวบ ที่ติดโควิด-19 รายแรกของโลก

ปลูกถ่าย 'สเต็มเซลล์' จากน้องชายวัย 5 ขวบ ที่ติดโควิด-19 รายแรกของโลก

น้องจีน ผู้ป่วยเป็นธาลัสซีเมีย ซึ่งเตรียมรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค คือน้องชายวัย 5 ขวบ แต่กลับพบว่าน้องชายติดเชื้อโควิด-19 ทีมแพทย์ฯ รามาฯ จึงต้องทำงานอย่างหนัก กระทั่งกลายเป็นเคสปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคโควิด รายแรกของโลก

ารปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ ในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ถือเป็นวิธีเดียวในการรักษาให้หายขาด ซึ่งส่วนใหญ่รับบริจาคจากสายเลือดเดียวกัน การจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 2 - 5 หมื่นราย ขณะเดียวกัน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลับพบว่า น้องจีโอ้ ซึ่งเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้พี่สาว กลับติดเชื้อโควิดก่อนวันปลูกถ่ายเพียง 1 วัน ทำให้ความหวังเดียวที่จะรักษาพี่สาวให้หาย กลับกลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเนื่องจากทั่วโลกไม่เคยมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาก่อน 

ธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงผิดปกติถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ประชากรไทยมีโอกาสเป็นพาหะของธาลัสซีเมียสูงถึงร้อยละ 40 มีผู้ป่วยธาลัสซีเมียราว 2-3 แสนราย ผู้ป่วยโรคนี้ มีอาการเรื้อรังตั้งแต่เด็ก และรักษาไม่หายขาด ยกเว้นแต่ว่าจะได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (สเต็มเซลล์) 

ที่ผ่านมา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ ตั้งแต่ปี 2532  แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่น้องจีน ผู้ป่วยอายุ 7 ขวบ ซึ่งน่าจะราบรื่นเหมือนเคสอื่นทั่วไป กลับพบปัญหาที่ว่า ผู้บริจาค คือ น้องจีโอ้ น้องชายวัย 5 ขวบ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ก่อนทำการปลูกถ่ายไขกระดูกเพียง 1 วัน ขณะที่ทุกอย่างได้ถูกจัดเตรียมให้พร้อมและน้องจีนได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อรอรับการปลูกถ่ายในวันถัดไป

“ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง” ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ สเต็มเซลล์ เป็นวิธีเดียวที่ทั่วโลกใช้รักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมีย สำหรับ เคสน้องจีน เนื่องจากเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่าสามารถหาผู้บริจาคได้ คือ น้องชาย ซึ่งทางทีมแพทย์ได้เตรียมแผนปลูกถ่ายไขกระดูกให้น้องจีนตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน อยู่ในห้องปลอดเชื้อ และให้ยาเคมีบำบัดขนานสูงมากกว่าทั่วไป 10 เท่า และตรวจหาเชื้อโควิด-19 พบว่าผลเป็นลบ ขณะที่น้องจีโอ้ น้องชายผู้บริจาคก็ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 

159289632698

ทว่าวันที่ 16 เมษายน 2563  ก่อนเจาะไขกระดูกเพียง 1 วัน ตรวจพบว่า น้องจีโอ้ติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จึงจำเป็นต้องแยกน้องจีนและน้องจีโอ้ โดยให้น้องจีนซึ่งเป็นผู้ป่วยอยู่ที่พญาไท และน้องจีโอ้ ไปที่ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทันที

159289632985

ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดขนานสูงไปแล้ว หากคนไข้ไม่ได้เซลล์ต้นกำเนิด จะมีภาวะไขกระดูกฝ่อ และภาวะแทรกซ้อนตามมา ทำให้เกิดการติดเชื้อ แม้จะอยู่ในห้องป้องกันการติดเชื้อก็ตาม จึงต้องให้ผู้ป่วยรับเซลล์ต้นกำเนิดเร็วที่สุด “ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์” สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า การจะหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้พี่จีนขณะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะหาสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา สเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ จึงเป็นความหวังเดียว ทีมแพทย์ได้ประชุมและร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจดำเนินการเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ทันที

159289632733

ทั้งนี้ ขั้นตอนการเก็บไขกระดูกต้องมีการวางแผน โดยนำน้องจีโอ้ เข้าห้องความดันลบ และเตรียมยาที่จำเป็นสำหรับการรักษาโควิด-19 มีทีมเลือด รพ.รามาฯ เตรียมเลือดที่ใช้ในระหว่างการเจาะไขกระดูก โดยทีมวิสัญญีแพทย์ต้องใส่ชุด PPE ขณะที่ทีมแพทย์ผ่าตัดใส่ชุดป้องกันการติดเชื้อ โดยการเจาะไขกระดูก ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. กว่าๆ หลังจากนั้น จึงนำเอาไขกระดูกกลับมา และน้องจีโอ้รักษาต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

159289633553

ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากเก็บไขกระดูกผู้บริจาค ต้องนำไปที่คลังเลือดเพื่อตรวจว่ามีเชื้อโควิดในกระแสเลือดหรือไม่ จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้ติดโควิด-19 จะติดเชื้อในเลือดร้อยละ 10 และไขกระดูกมีส่วนผสมของเลือด แม้จะดูเหมือนมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยแต่ถือว่าเสี่ยง 

159289632390

"อย่างไรก็ตามหลังจากตรวจ พบว่าไม่มีเชื้อ สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกให้น้องจีนสำเร็จ หลังจากนั้น ได้มีการติดตามอาการคนไข้ และตรวจเชื้อโควิด-19 ทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างรอไขกระดูกกลับมาทำงาน จนกระทั่งผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ทั้งนี้เคสน้องจีนและน้องจีโอ้ ที่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกจากน้องชายที่ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษาพี่สาวถือเป็นเคสแรกของโลก โดยการรักษาดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อย" ผศ.นพ.อุษณรัสมิ์ กล่าว

159289632410

น้องจีโอ้ น้องชายผู้บริจาคสเต็มเซลล์

159289632147

น้องจีน พี่สาว

ในส่วนของครอบครัวน้องจีนและน้องจีโอ้ ซึ่งต่อสู้กับโรคธาลัสซีเมียมา 7 ปี โดยรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากทราบว่าน้องจีโอ้ สามารถบริจาคสเต็มเซลล์ให้พี่สาวได้ถือเป็นความหวังของครอบครัว  “สุชาย บุญกล่อมจิตร” และ “ศศิวิมล พลลาภ” พ่อแม่ของน้องจีนและจีโอ้ เล่าว่า ทันทีที่แพทย์บอกว่า น้องจีโอ้ ติดเชื้อโควิด -19 ไม่มีใครคาดคิดและทางครอบครัวตกใจมาก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ได้ทราบข่าวจากทางโรงพยาบาลว่าจะทำการรักษาด้วยการใช้ไขกระดูกของจีโอ้เหมือนเดิมในวันรุ่งขึ้น เราไว้วางใจ ในทีมแพทย์และรพ.รามาฯ และความเชื่อมาตลอดว่า ถ้าอยู่ในมือหมอลูกเราต้องหาย

159289633511

หลังจากวันนั้น จนถึงวันนี้ น้องๆ ได้กลับมาบ้านทั้งสองคน จีโอ้แข็งแรงดีได้รับการรักษาโควิด -19 หายขาด ส่วนน้องจีน หลังจากผ่านการให้สเต็มเซลล์อยู่ในช่วงฟื้นฟู และต้องไปพบแพทย์ทุกสัปดาห์ โดยหลังจากนี้ วางแผนว่าจะให้น้องจีนเรียนแบบโฮมสคูล ส่วนน้องจีโอ้ เตรียมพร้อมเปิดเทอมในเดือนหน้า

“เรามองว่า ในเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวเรา ไม่ได้ร้ายไปทั้งหมด ยังมีเหตุการณ์ดีๆ ที่เราได้รับ สิ่งสำคัญ คือมีทีมแพทย์ที่มีความสามารถ ดูแลลูกเราได้ทันท่วงที ภายใต้โรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิรามาฯ ลดความกังวลใจได้มาก เหตุการณ์ร้ายๆ เป็นประสบการที่ดี เราได้รับกำลังใจจากคนที่เราไม่รู้จักมากมาย และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวคนอื่นๆ ที่ต้องทำการรักษาแบบเรา” คุณพ่อสุชาย กล่าวทิ้งท้าย