'กรมท่าอากาศยาน' เตรียมชงรัฐของบฯ อุดหนุน 600 ล้าน เสริมสภาพคล่อง
“กรมท่าอากาศยาน” ชงรัฐขอเงินอุดหนุน 658 ล้านบาท หลังคลอดมาตรการอุ้มสายการบินจากพิษโควิด -19 กระทบรายได้หดต่อเนื่อง 80% พร้อมเสนอขอขยายเวลาลดค่าเช่าพื้นที่ต่ออีก 3 เดือน หวังพยุงผู้ประกอบการ ด้าน กพท.จ่อชง ศบค.25 มิ.ย.นี้ เคาะมาตรการเปิดน่านฟ้า
นายทวี เกศิสำอาง อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ในต่างประเทศยังคงแพร่ระบาดต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นผลให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ขยายระยะเวลาห้ามอากาศยานต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยออกไปอีก ดังนั้นเพื่อเยียวยาให้ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานสังกัด ทย. สามารถประกอบการต่อไปได้ จึงขยายเวลาการลดอัตราค่าเช่าพื้นที่ในทุกกิจกรรม โดยไม่ต่ำกว่าอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนดต่อไปอีก 3 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2563 เป็นวันที่ 30 ก.ย.2563
ขณะเดียวที่ การลดค่าบริการการขึ้น - ลงอากาศยาน (Landing) 50% และลดค่าบริการการจอดอากาศยาน(Parking) 50% เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายจากการที่สายการบินต้องปรับลดเที่ยวบิน และจำเป็นต้องจอดอากาศยานทิ้งไว้ที่ท่าอากาศยาน ปัจจุบันยังคงลดในอัตราเดิมต่อไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ นั้นจะมีการขยายระยะเวลาออกไปอีกหรือไม่ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) มีมติให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยานให้กับทุกสายการบิน จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย ทย.มองว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังไม่มีสายการบินใดมาจอดที่ท่าอากาศยานของ ทย.จึงไม่เป็นผลกระทบ
ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการด้วยการลดค่าเช่า และค่าบริการการใช้ท่าอากาศยาน ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของ ทย. หายไปประมาณ 80% ซึ่งขณะนี้ ทย. ทำเรื่องขอเยียวยาโดยเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 658 ล้านบาท ในฐานะผู้ประกอบการท่าอากาศยานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อนำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนหมุนเวียนของ ทย. เพราะเวลานี้รายได้ในส่วนที่จะจัดเก็บจากผู้ประกอบการลดลงมาก และในปีนี้คาดว่ารายได้จะหายไปไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งหากเงินในกองทุนฯ หมด จะไม่มีงบประมาณมาใช้ในการพัฒนาท่าอากาศยาน
นายทวี กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.2563 จนถึงวันที่ 20 มิ.ย.2563 รายได้ภาพรวม ทย. ลดลงประมาณ 350 ล้านบาท คิดเป็น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย
รายได้เดือน ม.ค.-20 มิ.ย.2562 อยู่ที่ 646 ล้านบาท ขณะที่รายได้เดือน ม.ค.-20 มิ.ย.2563 อยู่ที่ 298 ล้านบาท สำหรับรายได้ของ ทย. อาทิ ค่าบริการผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ (PSC) 50 บาทต่อคน, ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน ขึ้นอยู่กับน้ำหนักอากาศยานแต่ละประเภท เช่น แอร์บัส A320 คิดค่าบริการ 6,482 บาทต่อเที่ยวบิน เป็นต้น
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ที่ประชุม กบร.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติยกเว้นค่าธรรมเนียมบริการการจอดอากาศยานให้จอดฟรี 100% จากเดิมมาตรการลดค่าธรรมเนียมการลดเพียง 50% โดยมาตรการช่วยเหลือใหม่ จะมีผลบังคับตั้งแต่ช่วงระยะเวลาที่สายการบินหยุดทำการบิน และจอดตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งหลังจากนี้ทย.จะประเมินรายได้ที่สูญเสียไป และเสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐ ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะต้องเสนอผลการประชุม กบร.เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณา
สำหรับความคืบหน้าของการขยายประกาศห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เบื้องต้น กพท.ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากยังติดประเด็นของการพิจารณาเรื่องชั่วโมงการบินที่มีผลต่อการปฏิบัติข้อกำหนดที่แตกต่างออกไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในที่ 24 มิ.ย.นี้ ก่อนนำเสนอสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติด เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. พิจารณาในวันที่ 25 มิ.ย.2563 ทั้งนี้ กพท.ยังประเมินว่าอาจจะมีการพิจารณาอนุญาตให้สายการบินทำการบินเส้นทางระหว่าวประเทศในบางจุดบิน หรือเปิดให้นักเดินทางบางกลุ่มเท่านั้น