นักศึกษา กปท. ล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น 'โพแทช' อีสาน
นักศึกษากลุ่มดาวดินใหม่ หรือกลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน (กปท.) เข้าฟังเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องเหมืองแร่โพแทชอีสาน หลังกรมทรัพยากรธรณีเปิดเวทีใน 2 จังหวัด คืออุดรธานีและขอนแก่น แต่กลับเชิญแต่หน่วยงานรัฐเข้าฟังไม่มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมกรีนโฮเต็ล จ.ขอนแก่น กรมทรัพยากรธรณี ได้ร่วมกับบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซันแตนท์จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษา ในโครงการศึกษา และประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อการบริหารจัดการแร่โพแทช เพื่อศึกษา และประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ โดยการกำหนดแผนการบริหารจัดการแร่โพแทช เพื่อสนับสนุนแนวทางการบริหารจัดการแร่โพแทช ให้เป็นไปได้ทางปฏิบัติจริงบนพื้นฐานของศักยภาพ ข้อจำกัด เงื่อนไข และบริบททางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี รวมทั้งสุขภาพของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการบริหารจัดการ แร่โพแทช ช่วยลดความขัดแย้งทางสังคม ส่งเสริมให้เกิดประโยชน์ในองค์รวม และสนับสนุนแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ กรมทรัพยากรธรณี
โดยกำหนดจัดประชุมระดมความคิดเห็น เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรแร่โพแทช เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 2 จังหวัด คืออุดรธานี ในวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา และขอนแก่นในวันที่ 2 ก.ค. ซึ่งเมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมกรีนโฮเต็ลขอนแก่น ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรม การมีส่วนร่วม ในขั้นแรกของโครงการ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ และระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เกี่ยวกับสภาพปัญหาและการบริหารจัดการแร่โพแทช ในพื้นที่ แอ่งโคราชและสกลนคร
ปรากฏว่า ได้มีกลุ่มนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยไทบ้าน (กปท.) ประมาณ 10 คน ได้เข้าไปร่วมในเวที แต่ถูกกีดกันปิดกั้น จนนักศึกษาถือป้ายประท้วง และได้แสดงความคิดเห็น จนทำให้เวทีดังกล่าว ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกลุ่มนักศึกษา ได้ถือป้าย โดยมีข้อความว่า “SEA ต้องฟังเสียงไทบ้าน” ทำให้ผู้ดำเนินการรับฟังความไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและต้องยุติไป
เรื่องนี้ นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ นายกสมาคมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เวทีนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมา 2 จังหวัด แต่ไม่มีการเชิญชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าฟังเลย เชิญเฉพาะหน่วยงานรัฐเท่านั้น ชาวบ้านและนักศึกษารู้ข่าว เพราะมีหน่วยงานรัฐบอกให้ฟังถึงได้ไปร่วม ในภาคอีสานการทำ SEA มีการทำเพราะทำตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ในอุดรธานีการทำ EIA เรื่องเหมืองแร่โพแทชเสร็จไปแล้ว แต่เพิ่งมาทำ SEA มาเสริมอีก คำถามคือทำเพื่ออะไร และเป็นการทำโดยไม่มีชาวบ้านมาร่วมด้วย วัตถุประสงค์ในการทำเพื่ออะไรกันแน่
“เวทีการรับฟังความคิดเห็นไม่เคยเชิญชาวบ้านมาร่วมเลย จริง ๆ ต้องเปิดเวทีให้ประชาชนในพื้นที่เหมืองแร่มาฟังด้วย เพราะพวกเขาคือคนได้รับผลกระทบ อีสานมีพื้นที่ได้รับผลกระทบกับเหมืองแร่โพแทชเป็นจำนวนมาก แต่ไม่เคยได้รับเชิญ นักศึกษาที่ไปร่วมเวทีเป็นกลุ่มที่เรียนรู้และศึกษาปัญหาโพแทชในพื้นที่มาตลอดและรับรู้ปัญหาของผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รู้ว่าชุมชน ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไร จึงอยากเข้าไปร่วมรับฟัง แต่กลับถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ให้เข้าร่วม ทั้งที่กลุ่มนี้ได้ทำหนังสือไปขออนุญาตแล้วแต่กลับไม่ได้รับการต้อนรับ” นายสุวิทย์ กล่าว