กางแผนรีโนเวท 'สะพานพุทธ' ฟื้นระบบเปิด-ปิด เล็งดันเป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยว
นายกฯประยุทธ์ สั่งรีโนเวท "สะพานพระพุทธยอดฟ้า" ทช.กางแผนปรับปรุงรับปรุงระบบเปิด-ปิดสะพาน คาดกลับมาใช้บริการอีกครั้งในปี 2566 ดันเป็นหนึ่งแลนด์มาร์คท่องเที่ยว
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท บูรณะโครงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าให้กลับมาสมบูรณ์ และคงไว้ด้วยเอกลักษณ์ รวมทั้งต้องการให้กลับมาเปิด-ปิด สะพานเพื่อรองรับการเดินทางทางน้ำ ซึ่งปัจจุบัน ทช.ได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อเริ่มต้นศึกษาแนวทางบูรณะโครงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
“ทช.เรามีสะพานเก่าแก่ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ 3 แห่ง คือสะพานกรุงเทพ สะพานพุทธ และสะพานซังฮี้ ซึ่งทุกปีจะมีการตรวจเช็ค และปรับปรุงตลอด โดยในส่วนของสะพานพุทธเรามีแผนจะปรับปรุงอยู่แล้ว เมื่อนายกฯ มีข้อสั่งการให้คงเอกลักษณ์ไว้ เราก็มองว่าควรจะปรับปรุงให้กลับมาเปิด-ปิดได้เหมือนเดิม เพราะที่ปิดสะพานไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีรถบรรทุกผ่านจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นแล้ว”
สำหรับโครงการบูรณะสะพานพระพุทธยอดฟ้า เบื้องต้น ทช.ได้จ้างที่ปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วงเงิน 7,490,000 บาท ระยะเวลาโครงการ 300 วัน ตั้งแต่ 28 พ.ค.2563 – 23 มีนาคม 2564 ขอบเขตดำเนินงานเพื่อสำรวจความเสียหายสภาพสะพานในปัจจุบันและประเมินความเป็นไปได้ในการใช้งานระบบเปิด-ปิดสะพาน ตลอดจนเพื่อเสนอแนวทางการบูรณะปรับปรุงสะพาน โดยเป้าหมายจะบูรณะสะพานให้สามารถกลับมาเปิด-ปิดได้อีกครั้งภายในปี 2566
ส่วนแผนปรับปรุงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นอกจากจะมีเป้าหมายให้สะพานกลับมามั่นคงแข็งแรง และสามารถเปิด-ปิดได้แล้ว ทช.ยังต้องการผลักดันให้การปรับปรุงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของสะพานดั้งเดิมที่มีอายุถึง 88 ปี อีกทั้งต้องการให้เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
ส่วนแผนลงทุนของ ทช.ในปีงบประมาณ 2563 นอกจากปรับปรุงสะพานแล้ว ยังอยู่ระหว่างศึกษา อาทิ โครงการถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ - ศาลายา และโครงการถนนเชื่อมต่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนนนทบบุรี 1 - กาญจนาภิเษก ซึ่งเริ่มดำเนินการสำรวจอสังหาริทรัพย์แล้ว คาดว่าจะเริ่มเวนคืนที่ดินภายในปี 2565 และมีเป้าหมายเริ่มงานก่อสร้างในปี 2566 – 2567