สร้างคนป้อน New Economy ทางรอด (มหาวิทยาลัย) ประเทศไทย
เพราะการเรียนรู้สามารถทำได้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจเปิดรับเพียงผู้ที่จบม.6 เท่านั้น แต่ต้องต้องตอบโจทย์การ Up-Skill/Re-Skill ของวัยทำงานที่มีกว่า 38 ล้านคน และวัยอื่นๆ ที่ต้องการเรียนรู้ พร้อมรับ New Economy ในอนาคต
ขณะเดียวกัน ความรู้เพียงศาสตร์เดียวอาจไม่ตอบโจทย์การทำงาน จำเป็นต้องมีทักษะที่สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ปัจจุบันได้ด้วย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ได้ลงนามความร่วมมือกับ SEAC (Southeast Asia Center) ภายใต้โครงการ “สร้างความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)” เพื่อร่วมสร้างกำลังคนคุณภาพ ลดปัญหาแรงงานไม่มีคุณภาพ หรือ การผลิตคนไม่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งปัญหาการว่างงาน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน 2563 – 17 มิถุนายน 2566
โดยในปีแรกจะมีโครงการนำร่องภายในประเทศ โดยร่วมออกแบบคอร์สเพื่อสร้างกลุ่มอาชีพใหม่ป้อนภาคการศึกษา ได้แก่ Online Instructional Designer (นักออกแบบการสอนแบบออนไลน์), Virtual Learning Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์) และ Data Scientist Facilitator (อาจารย์เกื้อหนุนด้าน Data Science) ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับอนาคต
“รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากหลังโควิด-19 การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์จะมากขึ้นการผลิตวิดีโอหรือหลักสูตรออนไลน์ที่ดึงดูดให้น่าสนใจ จะเป็นอาชีพใหม่ ซึ่งเปิดกว้างให้ทั้งนักศึกษา คนทั่วไป หรือคนทำงานด้านออกแบบสื่อ สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในอาชีพ หรือทำงานร่วมกับอาจารย์ในการออกแบบการเรียนออนไลน์ เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดระหว่างนักศึกษาและคนวัยทำงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน คาดว่าจะสามารถเปิดให้เรียนได้ภายในปีนี้
ทั้งนี้ โลกยุคใหม่ต้องการนิยามใหม่ของ “นักศึกษา” โครงสร้างประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นแต่ยังมีศักยภาพ หรือคนในวัยทำงานกว่า 38 ล้านคน ต้องการยกระดับศักยภาพของตนเองเพื่อให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนตลอดเวลา ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะมองแต่ผู้เรียนที่จบ ม.6 ไม่ได้ แต่ต้องมองคนที่อยู่ในระบบการทำงานด้วยจะต้องเปิดรับผู้เรียนทุกช่วงวัย รูปแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเปลี่ยนไป ไม่แบ่งภาคการศึกษา การนับหน่วยกิต รวมทั้งวิธีการวัดผลด้วยการสอบแบบเดิมก็ต้องปรับตามไปด้วย
การจัดการศึกษา ต้องเน้นสร้างศักยภาพให้ผู้เรียนเอาความรู้มาใช้ทำงานและประยุกต์กับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะมนุษย์เรามีทักษะต่างกัน ต้องการระยะเวลาเรียนต่างกันคือ การเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด มหาวิทยาลัยต้องพร้อมรองรับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก ถึงวัยหลังเกษียณ จะมีการเรียนการสอนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ผู้สนใจ ใฝ่รู้ หรือ แม้แต่ผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ขาดวุฒิ ก็เข้ามาที่มหาวิทยาลัยได้ เพื่อค้นหาสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง
“ต่อจากนี้ ผู้สนใจจะเข้ามาเรียนเมื่อสนใจ ได้ทักษะและออกไปทำงาน เมื่อทำงานคิดว่าต้องการทักษะเพิ่มขึ้น ก็กลับมาเรียนเพิ่มได้เรื่อยๆ เป็น Lifetime University คือ “มหาวิทยาลัยเพื่อให้การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทักษะชีวิต ในอนาคตจะสำคัญกว่าทักษะในเชิงองค์ความรู้เพราะหาที่ไหนก็ได้ แต่ทักษะชีวิตต้องฝึก หลายคนประสบความสำเร็จทั้งๆ ที่เป็นเด็กหลังห้อง เพราะทักษะชีวิต การตัดสินใจ สื่อสารเขาดี” อธิการบดี มจธ. กล่าว
“อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) กล่าวว่า ระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์ ถูกใส่ Hyper-relevant Skills ลงไปตั้งแต่อยู่ในวัยประถมฯ มัธยมฯ ไม่กลัวการพรีเซ็นต์ ขณะที่เด็กไทยซึ่งไม่ได้ถูกเทรนด์ สิ่งที่น่าเป็นห่วงตอนนี้ คือ องค์ความรู้ที่คนทำงานมีไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ยุค New Economy โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้คนมีทักษะที่บริษัทต้องการ นอกเหนือจากการมีความรู้เชิงเทคนิคจากมหาวิทยาลัย Hard Skill , Soft Skill , Mindset แล้ว ยังต้องรู้จักวิธีการใช้ชีวิตหรือ EQ สิ่งสำคัญ ที่คนเก่งจะยืนอยู่บนโลกนี้ได้ คือคนที่ถูกฝึกสอนด้าน EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ เพื่อให้รู้ว่าเราจะอยู่บนโลกที่ยากขึ้นทุกวันนี้ได้อย่างไร
ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือ ยกระดับศักยภาพและพัฒนาทักษะของคนไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน (Hyper-relevant Skills) ทุกวันนี้ Hyper-relevant Skills ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ คือ หมวดของ Mindset อาทิ Agility Mindset (การทำงานบริหารจัดการอย่างรวดเร็ว) , Outward Mindset (การมองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตัวเรา) และ Growth Mindset (การมองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นโอกาส) เป็นต้น
“เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ เราปฏิเสธโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไม่ได้ ต้องพาตัวเองไปศึกษา รวมถึงการทำตลาดแบบใหม่ ช่วงโควิด-19 จีนเป็นประเทศที่คนลุกขึ้นมา Up-Skill/Re-Skill ด้านการทำตลาดแบบใหม่มากที่สุด ทำให้เขายังสามารถอยู่ได้แม้จะเกิดวิกฤติ” อริญญา กล่าว
ทั้งนี้ ในปีต่อๆ ไป ทั้ง มจธ. และ SEAC มีแผนบุกตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดเส้นแบ่งเขตแดนของการศึกษาและแรงงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังคนให้มีคุณภาพทัดเทียมกัน เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานในภูมิภาค และแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำของโลกต่อไปเชื่อว่าความร่วมมือทั้ง 2 หน่วยงานจะทำให้นักศึกษา และผู้เรียนรู้ทุกคน ได้เติมเต็มทักษะชีวิต บวกกับทักษะด้านเทคนิค เพื่อให้เป็นบุคลากรสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เป็นการสร้างระบบใหม่ มหาลัยไม่ได้อยู่แต่ในกรอบ ทุกคนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา