1 ปี“ผลงานศธ.” คิดดีเกิดขึ้นจริง?
ผลงานศธ.ตลอด 1 ปี คิดดี แต่ไร้ผลปฎิบัติ ไม่เห็นผลชัดเจน นักวิชาการแนะปฎิรูปโครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีนโยบายพัฒนาครู กระบวนการสอนต้องเปลี่ยน มุ่งเป้ายกระดับคุณภาพเด็ก
เมื่อถามถึงผลงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งมี “ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ” นั่งแท่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” และ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เรียกได้ว่ามีโครงการตามนโยบายเน้นการเตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21
ไม่ว่าจะเป็น สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ใหม่ในระบบดิจิตอล เปลี่ยนโฉมบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่ “ครูสอน” เป็น “โค้ช” หรือ ผู้อำนวยการเรียนรู้ให้เด็ก ส่งเสริมการเรียนคอมพิวเตอร์ Coding พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ของสถาบันการศึกษา ปรับระบบการเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ ภาษาต่างประเทศ และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต เป็นต้น
ทว่าการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปสู่ในทางปฏิบัติให้มีความต่อเนื่อง และชัดเจนนั้น “อดิศร เนาวนนท์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.)นครราชสีมา กล่าวว่าปัญหาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นปัญหาที่ถูกหมักหมมมานาน และการจะสร้างคนนั้นเห็นผลช้า ดังนั้น ต่อให้ใครมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในส่วนของรัฐมนตรีชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็น รมว. หรือรมช. ถ้าดูถึงผลงาน ต้องยอมรับว่าแนวคิดในการกำหนดนโยบายต่างๆ นั้น ดีมาก
แต่เมื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่าไม่เห็นผลชัดเจน ยังไม่มีเรื่องอะไรที่สามารถทำได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น เรื่องการปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของรัฐมนตรีชุดนี้ที่จะปรับเรื่องนี้ เพราะความสำเร็จของการศึกษา หัวใจสำคัญอยู่ที่ครู และผู้บริหาร แต่การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบ ไม่ได้อยู่ที่ครูหรือผู้บริหารโรงเรียน โครงสร้างต่างๆ ก็มีแต่ประชุม เสนอแต่ยังไม่ได้ทำอะไร
“ขณะนี้โครงสร้างการศึกษาขั้นพื้นฐานมีความซับซ้อน ไม่ได้เป็นแบบบูรณาการ ซึ่งมีทั้งศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่ ทำงานลักษณะคล้ายๆกัน ส่วนการพัฒนาครูก็ไม่มีนโยบายอะไรชัดเจน ว่าจะทำอย่างไร เพราะต่อให้รมว.ศธ.บอกว่าจะเปลี่ยนจากครูผู้สอน เป็นครูโค้ช และหลายๆโรงเรียน ก็พยายามทำ แต่เมื่อดูภาพรวมหรือการเรียนการสอนของครูจริงๆ ยังคงเป็นกระบวนการสอนแบบเดิม ครูยืนสอนหน้าชั้น อีกทั้งครูและผู้บริหารโรงเรียนก็ไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน ทั้งที่จุดคานงัดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ครู และผู้อำนวยการโรงเรียน หากใช้ วิธีการสอนแบบเดิม วิถีเดิมๆและใช้นโยบายเดียวกันกับโรงเรียนทุกประเภท คงไม่สามารถแก้ปัญหาโรงเรียนได้”อดิศร กล่าว
สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำได้ทันที คือการปรับกระบวนการคัดเลือกผู้บริหาร เพราะหากไม่มีการปรับ ยังคัดเลือกผู้บริหารเหมือนกันทุกโรงเรียน จะไม่ได้ผู้บริหารที่มีความต้องการ มีเป้าหมายในการอยากพัฒนาโรงเรียนนั้นจริงๆ แต่จะได้ผู้บริหารที่พยายามกระโดดจากโรงเรียนชายขอบไปสู่โรงเรียนใหญ่ๆ เพื่อสร้างผลงานให้แก่ตนเองมากกว่าจะเพื่อคุณภาพของเด็ก
“อดิศร” กล่าวต่อว่านโยบายของศธ.ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งเป้าพัฒนาคนให้ดำรงชีพอยู่ได้ ในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาคุณภาพครู ให้เป็นครูโค้ช มากกว่าผู้สอน การสร้างหลักสูตรสมรรถนะ นโยบายโค้ดดิ้ง การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็ก การสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิตอลมาเป็นแพลตฟอร์มในการเรียนรู้ แต่เมื่อดูกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้น ยังขาดการกำกับ ดีไซต์ให้เกิดการขับเคลื่อน อย่าง การสร้างเด็กตามหลักสูตรอิงสมรรถนะ มีการพัฒนาออกแบบหลักสูตร แต่ถ้าไปถามว่าครูเข้าใจหลักสูตรเหล่านี้
หรือมีการพัฒนาครูให้สอนในหลักสูตรใหม่ เพื่อสร้างเด็กมีสมรรถนะไม่ใช่ความรู้อย่างเดียว คงตอบได้ว่าไม่มีครูที่เข้าใจ หรือนโยบายโค้ดดิ้ง ซึ่งตอนแรกมีความคึกคักเอาจริงเอาจังมาก พอมาดูตอนนี้แผ่วลงมาก รวมถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับดิจิตอลเทคโนโลยี การเป็นพลเมืองไทย เรื่องเหล่านี้สำคัญมากแต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้
“ผลงานของศธ.ที่ผ่านมาจับต้องเป็นรูปธรรมค่อนข้างยาก เพราะรัฐมนตรีเหมือนสนใจแต่เรื่องหยุมหยิม รายละเอียดยิบย่อย แต่เรื่องหลักๆ อย่าง การสรรหาเลขาธิการครุสภา ผ่านมาปีกว่าก็ยังไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าติดอะไร และดูจากการทำงาน ยังติดกรอบการทำงานตามกลไกที่ข้าราชการประจำทำ ถูกครอบด้วยข้าราชการประจำมาก รมว.เกรงใจครูจนไม่กล้าทำอะไร และการสื่อสารของรัฐมนตรีไปยังครูไม่มีความชัดเจน ดังนั้น อยากให้รมว.แบ่งงานกันอย่างชัดเจนว่าใครทำอะไร รับผิดชอบอะไร และควรมีแนวทางในการปฎิรูป ขับเคลื่อนเรื่องเหล่านั้นให้เป็นแนวทางชัดเจน อีกทั้ง อยากขอรัฐมนตรีคนที่มีประสบการณ์ ทั้งในพื้นที่ ส่วนงาน ให้เกิดความต่อเนื่อง และขอคนทำงานเป็น กล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง อย่าเอาคนที่เกรงใจครูมากเกินไป”อดิศร กล่าว
ด้าน “ไพทูรย์ อักษรครบุรี” ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านนารากอรพิมพ์ จ.นครราชสีมา กล่าวว่าโดยส่วนตัว การกำหนดนโยบายยังขาดการมีส่วนร่วม และเป็นนโยบายรายวันเหมือนทำไป คิดไป แก้ปัญหาไป บางนโยบายก็เป็นเรื่องรายละเอียดยิบย่อยที่ไม่ควรทำก็มาทำ อย่าง การไว้ผมยาวหรือผมสั้นของนักเรียน โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องว่าทรงผมไม่ได้ทำให้เด็กเก่งหรือไม่เก่ง แต่เรื่องนี้ถ้ามองอีกมุมก็เป็นการกำหนดกฎระเบียบให้เด็กได้ปฎิบัติ อดีตที่กำหนดให้เด็กนักเรียนต้องตัดผมสั้น เพื่อเป็นการสร้างกติกาในโรงเรียน ให้พวกเขาได้ปรับตัวเรียนรู้การยอมรับกติกา อยู่ในระเบียบต่างๆ ได้ ตอนนี้เมื่อไม่มีกำหนดก็ไม่เป็นไร แต่ควรจะมีมาตรการหรือกรอบระเบียบอย่างอื่นร่วมด้วย
“วันนี้นักเรียนทำอะไรถูกไปหมด แต่ครูทำอะไรไม่ได้ ทำให้ครูขาดขวัญกำลังใจ ขณะเดียวกันก็มีโครงการมากมายที่ดึงให้ครู และผู้บริหารโรงเรียนออกนอกห้องเรียน หรือไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากฝากแม้นโยบายหลายๆเรื่องเป็นแนวคิดแนวปฎิบัติที่ดี แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรครู ที่ต้องมีการสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูเกิดการเรียนรู้ อยู่กับเด็กในชั้นเรียน รวมถึงเรื่องอาหารกลางวัน ควรจัดสรรงบให้เหมาะสมแต่ละโรงเรียน อย่าใช้เกณฑ์เดียวมาตัดสินโรงเรียนเหมือนกันทั้งหมด เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมีบริบทต่างกัน ควรสนับสนุนงบประมาณ การพัฒนาให้ตรงกับความต้องการแต่ละโรงเรียนด้วย” ไพทูรย์ กล่าว