'จุรินทร์-เฉลิมชัย' ผนึกดันไทยขึ้นแท่นผู้นำอาหารโลก
“พาณิชย์-เกษตร” ชูนโยบายตลาดทำการผลิต ดันไทยผู้นำอาหารโลก ผลิตสินค้าปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ดึงเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกร แก้ปัญหายากจน ดึงเอกชนร่วมสร้างตลาด
กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดเวที “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อนำเสนอนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมสินค้าเกษตรไทย และรับฟังความเห็นของผู้ผลิต ผู้ส่งออกและเกษตรกรในการสร้างความร่วมมือดังกล่าว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Roadmap อาหารไทย อาหารโลก” ว่า เป้าหมายที่จะนำอาหารไทยผงาดในตลาดโลกต้องดำเนินการภายใต้แนวคิด 1 สร้าง 3 เพิ่ม คือ การสร้างประเทศให้เป็นประเทศสินค้าเกษตรอาหารที่มีคุณภาพของโลก
ส่วน 3 เพิ่ม ประกอบด้วย 1.การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 2.การเพิ่มจีดีพี และ 3.การเพิ่มรายได้ ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ
โดยมี 4 พันธกิจร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ คือ 1.การสร้าง Single Big Data ร่วมกัน 2 กระทรวง 2.การสร้างเพลตฟอร์มกลาง 3.สร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตร สินค้าอาหาร ทั้งเรื่องของคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับได้ 4.การพัฒนาคน
“จุรินทร์”ดันไทยผู้นำอาหาร
นายจุรินทร์ กล่าวว่า อาหารไทยจะพัฒนาขึ้นไปเป็นอาหารโลกได้ เพราะวันนี้การส่งออกอาหารของไทยอยู่ลำดับที่ 11 ของโลก และมีโอกาสขึ้นไปสู่อันดับสูงขึ้นได้ แม้ต้องเผชิญเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้าและโควิด แต่การส่งออกอาหารยังเดินหน้าต่อ
นอกจากนี้ การส่งออกอาหารไทยเดือน พ.ค.ขยายตัว 15% เฉพาะผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปขยายตัว 83.5% ส่วนไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว13 % รวม 5 เดือนแรกของปีขยายตัว 27.9 % นอกจากนี้อาหารสัตว์เลี้ยงที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นลำดับที่จะเป็นอันดับ 4 ของโลก
ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นสัญญาณชี้ว่าอาหารไทยจะผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกได้ถ้าไทยร่วมกันผลักดัน “อาหารไทย อาหารโลก” ภายใต้ยุทธศาสตร์ ”เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” จึงเกิดขึ้นเพื่อนำไทยเป็นอันดับต้นของอาหารโลกจากเหตุผล ดังนี้
1.ไทยมีห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำเกษตรกรที่มีศักยภาพการผลิตวัตถุดิบพร้อม 2.อาหารไทยเป็นที่ยอมรับทั้งคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย 3.อาหารไทยมีอัตลักษณ์ของตัวเอง 4.อาหารไทยสอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ของตลาดโลก 5.ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพแข่งขันสูง 6.การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสูงขึ้น
ตั้ง4คณะทำงานขับเคลื่อน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ไทยเป็นเบอร์ 1 อาหารโลก คือ
1.เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผลิตอาหารไทยป้อนตลาดโลก
2.เดินหน้าการตลาดเชิงรุกด้วยการรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ฟื้นตลาดเก่าและปรับรูปแบบการตลาดเรา โดยต้องมีทีมเซลล์แมนจังหวัดที่มีพาณิชย์จังหวัดและเอกชนในจังหวัดร่วมมือกัน และมีทีมเซลล์แมนประเทศ โดยมีทูตพาณิชย์และภาคเอกชนร่วมกันเข้าสู่ตลาดยุคใหม่ทั้งตลาดออฟไลน์ ตลาดออนไลน์ ตลาดเกษตรพันธสัญญา ตลาดเคาน์เตอร์เทรด
3.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและการเร่งรัดการทำข้อตกลงทางการค้าทั้งพหุภาคี ทวิภาคี เพื่อให้เราแสวงหาความได้เปรียบในอนาคตให้
“คิดว่าถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันได้ทางกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอื่น ภาคเอกชนและภาคเกษตรกร จะทำให้อาหารไทยเป็นอาหารโลกได้ในอนาคต หลังจากนี้จะตั้งคณะทำงาน 4 คณะขับเคลื่อน 4 พันธกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งให้ กรอ.พาณิชย์ และ กรอ.เกษตร ร่วมมือสร้างแบรนด์อาหารไทยให้เป็นที่รู้จัก”
“เฉลิมชัย”แก้เกษตรกรยากจน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษหัวข้อ “เกษตรไทย มาตรฐานโลก” ว่า ความร่วมมือ 2 กระทรวงมีเพื่อใช้ตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของภาคการเกษตร จากพื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ คิดเป็น 1 ใน 4 ของประเทศ สร้างจีดีพีกว่า 20%
ดังนั้น หากทำให้ความเป็นอยู่เกษตรกรกร 30 ล้านคน ก้าวผ่านความยากจนได้จะทำให้ไทยมีความแข็งแกร่งขึ้น และจีดีพีของประเทศจะสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายคิดว่าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ คือ การผลิตเท่านั้นแต่ทางปฏิบัติงานกระทรวงเกษตรฯ ดูแลตั้งแต่การผลิต การควบคุมคุณภาพและการตลาด
“ต้องการยกระดับความเป็นอยู่เกษตรกรให้ดีขึ้น นั่นหมายถึงการเติมเงินใส่กระเป๋าเกษตรกรให้มากขึ้น จากเดิมรัฐบาลต้องอุดหนุนจำนวนมากแต่เกษตรกรยังยากจน”
ทั้งนี้ การช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน ต้องปฏิรูปภาคการเกษตร เริ่มต้นจากนโยบายการใช้ตลาดนำการผลิต เปลี่ยนจากการทำเกษตรดั่งเดิมเป็นเกษตรสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย พัฒนาคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำไรต่อหน่วยให้ได้
สำหรับแนวทางนี้จะส่งผลดีทั้งฝ่ายราชการที่ควบคุมกระบวนการผลิต ส่งเสริมองค์ความรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปัจจัยการผลิต พันธุ์พืชและการใช้ปุ๋ยทำเองที่ลดต้นทุนได้ 30% โดยเกษตรกรจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพขึ้น
“เกษตร”ทวงคืนแชมป์ข้าว
ทั้งนี้เพื่อเริ่มให้เกษตรกรผลิตสินค้าที่ปลอดภัย ก่อนจะก้าวไปสู่เกษตรอินทรีย์ ที่ไทยยังทำได้น้อย เพราะทำได้ยาก ดังนั้นหากไทยต้องการเป็นอาหารโลก ในขณะนี้สินค้าเกษตรปลอดภัย พร้อมแล้วที่จะตอบสนองความต้องการ ในขณะที่สินค้าอินทรีย์จะเพิ่มระดับการผลิตมากขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน
“จากที่ไทยเสียแชมป์ข้าว ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีต้นทุนสูงกว่า เนื่องจากขาดงบประมาณที่จะนำไปพัฒนาตรงนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ให้ทวงแชมป์คืนให้ได้ ใน 2 ปี ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯต้องเร่ง และระดมหยิบผลงานวิจัยทุกด้านมาพัฒนา ผลักดันให้เกษตรหลุดพ้นวิถีชีวิตเดิมให้ได้”
ผลผลิตสินค้าเกษตรในแต่ละมีมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 1.25 ล้านล้านบาท มีการบริโภคภายในประเทศ 2 ล้านล้านบาท หากทุกฝ่ายร่วมมือกัน พัฒนาการเกษตรให้บรรลุผล ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ การส่งออกจะเพิ่มมากขึ้น การบริโภคภายในก็จะสูงขึ้นดัน จีพีดีปรับเพิ่มขึ้น
“ซีพีเอฟ”แนะโมเดลญี่ปุ่น
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวทางการใช้ตลาดนำการผลิต แต่ต้องสร้างโมเดลให้ถูกต้อง โดยควรดูโมเดลของญี่ปุ่นที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีมาผลักดันให้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น เช่น องุ่น สตอเบอรี่ และเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก
สำหรับตลาดไทยที่มีประชากร 70 ล้านคน ถือเป็นตลาดใหญ่และหากรัฐสร้างแบรนด์สินค้าและรณรงค์ให้บริโภคในประเทศจะสร้างความแข็งแกร่งให้สินค้าก่อนไปสู้ต่างประเทศ
ส่วนงบประมาณที่ใช้ผลักดันเห็นว่าคนไทยควรยอมเพิ่มค่าใช้จ่าย โดยถ้าเพิ่มค่าใช้จ่ายมื้อละ 10 บาท จะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นปีละ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตที่ดีที่สู้ต่างประเทศได้
“การดีไซน์แบรนด์ สินค้าของไทย รัฐควรจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการ เพราะเอเยนซี่เหล่านี้รู้ทิศทางตลาดดี โดยแยกรายการสินค้าที่ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศออกจากกันแล้วผลักดันในทิศทางที่ถูกต้องจะทำให้ตลาดที่ชัดเจน ซึ่งซีพีเอฟก็ใช้แนวทางนี้“
ผู้ส่งออกแนะเร่งพัฒนาข้าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในเรื่องของการส่งออกข้าวของไทยต้องยอมรับว่า การส่งออกข้าวไทยเริ่มถดถอยลง เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง ไม่สามารถต่อสู่กับคู่แข่งได้ เช่น เวียดนาม อินเดีย พม่า โดยเฉพาะเวียดนามที่มีการพัฒนาด้านการผลิตและพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 20 ปี
ขณะที่ไทยแม้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวแต่ก็ยังไม่ได้นำมาทดลองใช้ ประกอบกับพันธุ์ข้าวของไทยก็ยังไม่ตรงยังไม่มีความหลากหลายและตรงกับความต้องการของตลาด ที่ขณะนี้มีความต้องการพันธุ์ข้าวนุ่ม ซึ่งเวียดนามสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มและส่งออกแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไปแล้ว รวมถึงการพัฒนาให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น