บาทแข็งหลอนส่งออกข้าว 'เอกชน' ถกลดเป้าล้านตัน

บาทแข็งหลอนส่งออกข้าว 'เอกชน' ถกลดเป้าล้านตัน

เอกชนเตรียมเสนอนบข.ปรับลดเป้าส่งออกข้าวปีนี้ลงอีก 1 ล้านตันหลังเผชิญปัญหาบาทแข็ง พร้อมร้อง“จุรินทร์”กระตุ้นจีนรับมอบข้าวจีทูจีอีก 3 แสนตันหวังช่วยดันยอดส่งออก ส่วนมตินบข.ทุ่ม 1.1 แสนล้านบาทไฟเขียวประกันรายได้นาปี 2563/64

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักด์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่าสมาคมฯจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 22 ก.ค.นี้เพื่อทบทวนเป้าหมายการส่งออกข้าวจากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน โดยคาดว่าจะลดเป้าส่งออกข้าวปีนี้เหลือ 6.5 ล้านตัน หรือลดลงอีก 1 ล้านตันจากเป้าหมายเดิม จากนั้นจะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในการประชุมครั้งต่อไป

การปรับลดเป้าหมายการส่งออกข้าวปีนี้มาจากปัจจัยภัยแล้ง บาทแข็ง และราคาข้าวไทยยังมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก โดยที่ผ่านมาการส่งออกข้าวช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย.) ทำได้เพียง 3 ล้านตัน ลดลง 38-40 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงครึ่งปีหลังยังน่าเป็นห่วงว่าปริมาณส่งออกข้าวอาจจะลดลงอีก หากตัองทำให้ได้ตามเป้าหมาย 7.5 ล้านตัวจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 7.5แสนตันซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน

นอกจากนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ เพื่อขอให้ช่วยเจรจากับประเทศจีนขอให้เร่งทำสัญญาและซื้อข้าวตามที่มีสัญญาเหลืออยู่อีก 3 แสนตัน เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวในครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกันขอให้ช่วยเหลือเรื่องโลจิสติกส์ของผู้ส่งออกข้าวด้วยเพราะตอนนี้ต้นทุนในการขนส่งไทยสูงกว่าเวียดนาม อินเดีย

159499008367

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุมนบข. ที่่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเป็นประธานวานนี้ (17 ก.ค.)  ประกอบด้วยข้าว 5 ชนิดได้แก่ 

1.ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน 2.ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน 3.ข้าวเจ้า 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน 4.ข้าวหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน 5.ข้าวเหนียว 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

โดยมอบหมาย ธ.ก.ส. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดโครงการประกันรายได้ มาตรการคู่ขนาน และงบประมาณตาม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอ ครม. ต่อไป โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของกรอบวงเงินงบประมาณว่าจะเสนอภายในปีงบประมาณ 2563 หรือปี 2564  แต่ในส่วนของโครงการคู่ขนานจะช่วยเหลือเกษตรกรได้แก่ โครงการสินเชื่อละลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ใช้งบประมาณ 64 

แหล่งข่าวจากที่ประชุม นบข.แจ้งว่างบประมาณที่ใช้ในโครงการประกันรายได้และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในปี 2563/2564 ใช้วงเงินทั้งหมด 115,588.6 ล้านบาท เป็นเงินจ่ายขาด 8.5 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อ 3.02 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนของวงเงินจ่ายขาดให้ ธ.ก.ส.จัดสรรวงเงินให้ก่อน แล้วรัฐบาลทยอยจ่ายคืนภายหลัง 

โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าววงเงิน 2.34 หมื่นล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี 1.98 หมื่นล้านบาท 3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร 1.55 หมื่นล้านบาท 4.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก 610 ล้านบาท และ 5.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินรวม 5.6 หมื่นล้านบาท