'เกณฑ์ทหาร' คืออะไร ข้อกำหนด และข้อยกเว้น การคัดเลือก 'ทหาร' มีอะไรบ้าง
"เกณฑ์ทหาร" เป็นหน้าที่ของชายไทยที่ต้องผ่าน "การตรวจเลือกทหาร" เมื่อได้รับจดหมาย หรือหมายเรียกไปที่บ้าน มีอะไรที่เราต้องรู้บ้าง เพื่อจะสมัครคัดเลือก หรือรับการผ่อนผัน
ตามกฎหมาย พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 กำหนดให้ชายไทยต้องเข้ารับราชการทหารทุกคน ปกติการเกณฑ์ทหารจะกระทำกันในช่วงเดือน เมษายน ของทุกปี ปีละครั้ง ซึ่งการเกณฑ์ทหาร 63 นี้ถูกเลื่อนมาในวันที่ 23 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 63 เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 และต้องเข้ารับราชการเป็นทหารเกณฑ์จำนวน 2 ปี
แต่มีข้อยกเว้น และผ่อนผันสำหรับผู้ที่เรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) หรือผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร และกฎกระทรวง ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กระทรวงกลาโหม
ขั้นตอนเกี่ยวกับการรับราชการทหาร
1. การขึ้นทะเบียนทหาร ชายไทยอายุ 17 ปีบริบูรณ์ (ย่าง 18 ปี) จะต้องแสดงตนขึ้นทะเบียนทหารภายในปี พ.ศ. นั้น
2. การรับหมายเรียก (การรับหมายเกณฑ์) ทหารกองเกินทุกคนเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี (20 ปีบริบูรณ์) ใน พ.ศ.ใดต้องไปแสดงตน เพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ที่เป็นภูมิลำเนาทหารของตน ภายใน พ.ศ.นั้น
3. การเข้ารับการตรวจเลือก (การเข้าเกณฑ์ทหาร) ทหารกองเกินเมื่อได้รับหมายเรียกแล้วจะต้องไปเกณฑ์ทหารตามวัน เวลาและสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายเรียก
4. การเข้ารับการเรียกพลของทหารกองหนุน ทหารที่ปลดจากกองประจำการโดยรับราชการในกองประจำการจนครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร และได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน เมื่อมีหมายเรียกพล (เพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม) จะต้องไปรายงานตัวเพื่อเข้ารับการฝึก หรือทบทวนวิชาทหารให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ทบ.แจงเริ่ม 'เกณฑ์ทหาร' วันแรก ดีเดย์ 23 ก.ค.63 ย้ำเข้มมาตรการป้องกัน COVID-19
ขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร
หนังสือหมายเรียก สด. 35 จะระบุวัน และเวลาจัดการคัดเลือกเกณฑ์ทหารไว้ สำหรับผู้ที่ได้รับหนังสือเรียกในปี พ.ศ. นั้นมีหน้าที่จะต้องเดินทางไปสถานที่ที่กำหนด และปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. เดินทางไปยังสถานที่ตรวจเลือกทหารกองเกิน ในเวลา 07.00 น.
2. ประธานตรวจคัดเลือก จะชี้แจงรายละเอียดที่จำเป็นเกี่ยวกับการตรวจเลือกทหาร
3. สัสดีจะชี้แจงขั้นตอน รวมถึงสิทธิต่างๆ ของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นทหารกองประจำการ
4. กรรมการเรียกชื่อเข้ารับการตรวจเลือก
5. แพทย์ตรวจร่างกาย
6. หากได้รับการคัดเลือก ด้วยการจับได้ใบแดง หรือสมัครเป็นทหารเอง สัสดีจะส่งตัวต่อให้นายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขต หรือปลัดอำเภอ ออกหมายนัดรับราชการทหารตามผลัดที่จับสลากได้
ข้อยกเว้นการเกณฑ์ทหาร
บุคคลที่ได้รับการยกเว้น มีรายละเอียดดังนี้
- บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ
- บุคคลที่มีร่างกายพิการ ทุพพลภาพ
- พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ชั้นเปรียญ นักบวชนิกายมหายาน
- บุคคลที่ได้รับการยกเว้น เมื่อลงบัญชีทหารกองเกินแล้วไม่เรียกมาตรวจเลือกรับราชการทหารในยามปกติ
- สามเณร ภิกษุ นักบวชพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ
- นักบวชศาสนาอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้
- บุคคลที่ผ่านการเรียนนักศึกษาวิชาทหาร (เรียน รด.) ครบตามหลักสูตรที่กำหนด
- นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม
- ครู ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญไว้ให้
- นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ
- นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
การขอผ่อนผันเกณฑ์ทหาร
กรณียังอยู่ระหว่างศึกษาสามารถดำเนินการขอผ่อนผันตามจำนวนปีที่ศึกษาจนกว่าจะจบการศึกษา โดยใช้เอกสารยื่นต่อสัสดีตามภูมิลำเนา ดังนี้
- สด. 9 และ สด. 35
- หนังสือรับรองการศึกษา หากเป็นภาษาต่างประเทศต้องขอฉบับแปลเป็นภาษาไทย
- หากศึกษาอยู่ต่างประเทศ ต้องขอหนังสือรับรองของสถานทูต หรือ สถานกงสุลไทยในประเทศที่กำลังศึกษาอยู่
กรณีติดราชการ
แบ่งออกเป็น
- ผู้ที่เดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแบบปัจจุบันทันด่วน
- ข้าราชการ หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ ระหว่างที่มีสงคราม ในการดูแลควบคุมของกระทรวงกลาโหม
- บุคคลที่กำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสนาม
กรณีเจ็บป่วย หรือเหตุสุดวิสัย
ต้องให้บุคคลที่บรรลุนิติภาวะ ดำเนินการแจ้งกับสัสดี หรือคณะกรรมการคัดเลือกในวันคัดเลือกเกณฑ์ทหาร หากไม่ยื่นแจ้ง ถือว่ามีความผิด
โทษของการไม่มาเกณฑ์ทหาร
ผู้ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการเกณฑ์ทหาร หรือขอผ่อนผันในครบตามขั้นตอน นอกจากจะมีผลต่อการสมัครงานในอนาคตแล้ว ยังได้รับโทษปรับและจำคุกได้อีก มีตั้งแต่โทษที่เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารที่เจ้าหน้าที่ออกให้ชำรุดเสียหาย จนถึงโทษที่เกี่ยวข้องกับการไม่มารายงานตัว อายุความของโทษหนีทหาร มีอายุความ 10 ปี