ปัจจุบันและอนาคตของ 'บาทดิจิทัล'
ตามติดประเด็น "เงินดิจิทัล" ในปัจจุบันมีรูปแบบใดบ้าง และมีลักษณะอย่างไร รวมถึงเงินรูปแบบนี้เจ้ามาแทนที่เงินสด 100% จริงหรือไม่? และสำหรับอนาคต "บาทดิจิทัล" มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? ติดตามบทวิเคราะห์ได้ที่นี่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาเพื่อพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลางเป็นเทรนด์ที่ภาครัฐทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญรวมถึงประเทศไทย บทความฉบับนี้จึงขอเล่าระบบที่ใช้ในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของบาทดิจิทัลในอนาคต
ปัจจุบันของระบบชำระเงิน ที่ใช้ในปัจจุบันประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ
1) Retail คือ การชำระเงิน การทำธุรกรรมรายย่อย หรือบริการทางการเงินผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ดังนั้น ตัวกลางในการทำธุรกรรม คือ “ธนาคาร” ที่เรามีเงินฝากอยู่นั่นเอง ซึ่งแม้ปัจจุบันการทำ Mobile Banking จะทำผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงก็เป็นการทำธุรกรรมผ่านธนาคารตัวกลาง
2) Wholesale คือ ระบบงานหลังบ้าน (Switching, Settlement, Clearing) ซึ่งเมื่อได้มีการทำธุรกรรมผ่านงานหน้าบ้านของธนาคารแบบ Retail เพื่อจัดการยอดเงินหรือธุรกรรมดังกล่าว จะเป็นเรื่องของระบบปฏิบัติการหลังบ้าน ซึ่งในทางปฏิบัติ ธนาคารจะมีการเปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับ ธปท. (ระบบ BAHTNET) เพื่อวัตถุประสงค์ในการโอน/ชำระเงินระหว่างกันภายใต้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับการชำระเงินมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงิน (RTGS) ดังนั้น สำหรับงาน Wholesale “ธปท.” จะเป็นตัวกลางในธุรกรรมดังกล่าวระหว่างธนาคาร
- การสร้างเงินบาทแบบดิจิทัล
ทั้ง Wholesale และ Retail ที่ผู้เขียนเล่ามาในข้างต้น ธนาคารกลางสามารถใช้ CBDC เข้าแทนที่การทำงานในแบบปัจจุบันได้ทั้งหมด โดยการแปลงมูลค่าของเงินบาทให้อยู่ในรูปของ token เพื่อให้สามารถส่งมอบและชำระราคาระหว่างกันได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ธนาคารกลางสามารถออก “เงินบาทแบบดิจิทัล” เพื่อเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมได้ทั้ง 2 รูปแบบ โดยกำหนดให้มีมูลค่าไม่ต่างจากเงินสดที่ใช้ในปัจจุบัน
ดังนั้น หากมีการสร้าง “บาทดิจิทัลแบบ Retail” แปลว่า ธนาคารกลางจะออก “เงินดิจิทัล” ให้ประชาชนใช้จับจ่ายได้เหมือนเงินสดที่ใช้กันอยู่ หรือหากมีการสร้าง “บาทดิจิทัลแบบ Wholesale” ก็แปลว่า ธนาคารกลางต้องการสร้างเงินดิจิทัลเพื่อใช้ในวงจำกัดสำหรับวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลหรือทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูงระหว่างสถาบันการเงิน
- DLT/Blockchain คือ ระบบที่เลือกใช้
ธนาคารกลางส่วนมากทดลอง CBDC โดยใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือระบบ Blockchain ซึ่งมีข้อดี เช่น
1) การออกแบบระบบการชำระเงินสามารถใส่เงื่อนไขและข้อกำหนดที่จำเป็นและซับซ้อน รวมถึงกำหนดกฎหมายที่ใช้ในการกำกับดูแลผู้เล่นในระบบผ่าน Smart Contract ได้
2) การส่งต่อมูลค่าของเงิน (ที่เดิมธนบัตรเป็นตัวแทนของมูลค่า) ได้หายไป โดยระบบจะเก็บและส่งต่อมูลค่าดังกล่าวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง และ
3) ช่วยลดการจัดเก็บข้อมูลบัญชีแบบกระจัดกระจายที่เคยทำผ่านตัวกลางและ Clearing house จำนวนมากลง ดังนั้น จึงทำให้การเก็บรักษาข้อมูลทางการเงินมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือโดยไม่ต้องมีคนกลาง
- จะเปิดบัญชีเพื่อเก็บ Retail CBDC อย่างไร?
เบื้องต้นประชาชนจะต้องมี e-wallet เพื่อเก็บเงินในแบบดิจิทัล แต่รูปแบบการเปิดและบริหารจัดการบัญชีขึ้นอยู่กับการกำหนดของธนาคารกลางว่าจะเลือกจัดทำ Retail CBDC แบบ Direct หรือ Indirect Model
หากเลือกแบบ Direct Model แปลว่า ประชาชนจะต้องเปิดบัญชีโดยตรงกับธนาคารกลาง ซึ่งรูปแบบนี้ธนาคารกลางอาจต้องรับภาระในการทำ KYC และอาจมีหน้าที่ตามกฎหมาย “ฟอกเงิน - ภาษี” เช่น หักเงินได้ ณ ที่จ่ายเพื่อนำส่งสรรพากร (ในกรณีที่มีการจ่ายดอกเบี้ย) ซึ่งอาจเป็นการเพิ่มภาระให้กับธนาคารกลางในการบริหารจัดการ
แต่หากธนาคารกลางเลือกแบบ Indirect Model แปลว่า การบริการจัดการบัญชีจะให้สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวแทน หรือให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีกับธนาคารได้คล้ายระบบเงินสดในปัจจุบัน (โดยธนาคารกลางและสถาบันการเงินตัวแทนจะอยู่บนระบบปฏิบัติการ DLT เดียวกันเพื่อประโยชน์ในการตรวจทาน)
CBDC ไม่ใช่ e-Money เพราะ e-Money คือ การที่ผู้รับบริการได้ชำระเงินล่วงหน้า และผู้ให้บริการได้เก็บมูลค่าของเงินที่เราใส่ไปไว้ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (บัตรพลาสติก/e-Wallet) เพื่อวัตถุประสงค์ในการซื้อสินค้า/บริการ (Stored Value) ซึ่งเป็นคนละลักษณะกับ CBDC ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการสร้างเงินให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล
- อนาคตของบาทดิจิทัล
ธปท.ได้ทำการทดสอบเพื่อพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลผ่าน “โครงการอินทนนท์” นับตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมา ซึ่งได้เริ่มทดสอบการใช้งานในแบบ Wholesale ก่อน เช่น การทดสอบโอนเงินมูลค่าสูงระหว่างธนาคาร การทดสอบซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล และการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยไม่ผ่านธนาคารตัวแทน และปัจจุบันการทดสอบได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา “บาทดิจิทัล” ในรูปแบบ Retail ซึ่งในทางปฏิบัติ หากการทดสอบในการสร้าง “บาทดิจิทัลแบบ Retail” สำเร็จ กฎหมายในปัจจุบันที่นิยามความหมายของ “เงินตรา” และกำกับดูแลธุรกิจทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเงินตราทุกประเภทจะต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงให้รองรับการใช้งานดังกล่าวด้วย
- เงินสดจะหายไปในที่สุด?
ผู้เขียนเชื่อว่าการสร้าง Retail CBDC ในระยะแรก ประเทศต่างๆ ไม่ได้ประสงค์ให้ทดแทนเงินสดแบบ 100% อย่างเช่น ดิจิทัลหยวนของจีน ที่รัฐบาลได้ออกมาประกาศชัดเจนว่าเงินหยวนในแบบดิจิทัลจะถูกใช้ควบคู่กับหยวนที่เป็นเงินสด เช่นเดียวกัน เงินดิจิทัลสกุล Prizm ของภูฐานก็ยังคงใช้ควบคู่กับเงินสกุลงุลตรัม โดยรัฐบาลมีนโยบายโอนเงินเข้า e-Wallet ของประชาชนคนละ 100 เหรียญในช่วงแรก เพื่อวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย
ท้ายที่สุด การจะยกเลิก “เงินสด” คงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาไปมากและจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของระบบชำระเงินของโลกให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ประเด็นการเข้าถึงบริการทางการเงิน การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการพิจารณานโยบายการเงินที่รอบคอบ การคุกคามทาง Cyber การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชน และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก ก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจชะลอการหายไปของการใช้เงินสดในระบบ โดยประเด็นเหล่านี้ จะเป็นเหรียญอีกด้านที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงในการสร้าง CBDC
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]